วันอาทิตย์ที่ 12 ตุลาคม พ.ศ. 2551

[nulex] อีพีซี 1000 คู่ต่อกรแอสไปร์วัน

อีพีซี 1000 คู่ต่อกรแอสไปร์วัน

รายงานโดย :เรื่อง : โยโมทาโร่:
วันพฤหัสบดีที่ 9 ตุลาคม พ.ศ. 2551
หลังจากที่เราได้รีวิวตัวแอสไปร์วันไปแล้ว มาถึงคราวของอีพีซี ที่ไม่ยอมน้อยหน้าปล่อยตัว eeepc 1000 ลงมาเป็นทางเลือกของผู้ใช้บ้านเรา

หลังจากขายแต่ต่างประเทศซะนาน ซึ่งเครื่องนี้มาแบบยกเครื่องใหม่หมด ทั้งการออกแบบบอดี ขนาดแป้นพิมพ์และหน้าจอก็ถูกออกแบบใหม่มาต่อกรกับคู่แข่งอย่างสมน้ำสมเนื้อเรา มาดูกันว่า อีพีซี 1000 จะเข้าไปอยู่ในใจคุณได้หรือไม่

        ซีพียูอะตอมกับจอขนาด 10 นิ้ว

อีพีซี 1000 มาด้วยสเปกที่ค่อนข้างดีทีเดียว สิ่งที่ขาดหายไปในรุ่นก่อนหน้านี้ก็ถูกนำมาติดตั้งเพิ่มเติม ไม่ว่าจะเป็น บลูทูธ ที่หลายคนเรียกร้อง แป้นพิมพ์ที่พิมพ์งานได้ถนัดมือมากขึ้น ระบบการจัดการพลังงานที่มีประสิทธิภาพ แบตเตอรี่ที่สามารถใช้งานได้ยาวนาน สิ่งเหล่านี้มีมาให้ครบครันสำหรับ อีพีซี 1000 พร้อมเพิ่มทางเลือกให้ใช้ตัวเก็บข้อมูลแบบฮาร์ดดิสก์ และ SSD หากต้องการความจุก็ฮาร์ดดิสก์ หากต้องการความเบากะทัดรัดความร้อนน้อยก็ต้อง SSD

นอกนั้นสเปกโดยรวมถือว่าไม่แตกต่างจากคู่แข่งมากนัก หรือแทบจะเหมือนกันก็คือ CPU Atom N270 1.6 GHz HT L2 512 KB แรม 1G แบบ DDR2 533 รับสูงสุดได้ 4 GB หน้าจอแอลซีดีแบบด้านขนาด 10.2 นิ้ว ขนาด 1,024 x 600 ช่องต่อ USB 3 PORT พร้อมช่องต่อวีจีเอ และสายแลน ติดกล้องเว็บแคมขนาด 1.3 M ไว้ด้านบนในรุ่นที่ใช้ทดสอบเป็นแบบแบตเตอรี่ 6,600 มิลลิแอมป์ ระบบปฏิบัติการลีนุกซ์ ฮาร์ดดิสก์ 80 GB

บททดสอบใช้งานจริง

ผลจากการใช้งานจริงเนื่องจากความเร็วในการเปิดปิดเครื่องแบบปกติของลีนุกซ์ที่มาพร้อมเครื่องจัดว่าเร็วทีเดียว จากการจับเวลาเปิดเครื่องจะใช้เวลาอยู่ที่ 40 วินาที ส่วนเวลาที่ใช้ในการปิดเครื่องอยู่ที่ 5 วินาที ซึ่งถือว่าเร็วมากสำหรับการเปิดปิดเครื่องที่ใช้ฮาร์ดดิสก์ คาดว่าถ้าเป็นรุ่น SSD จะใช้เวลาน้อยกว่านี้เท่าตัว

ทดลองใช้งานอยู่หลายๆ แบบเพื่อหาข้อบกพร่อง ก็คือการใช้งานทั่วไปในโหมด ไฮ ซึ่งเป็นโหมดมาตรฐานเวลาเสียบปลั๊ก พอถอดปลั๊กเครื่องจะกลับไปโหมดออโตความเร็วการทำงานจะลดลงเล็กน้อยพอรู้สึก แต่ไม่รำคาญ เราจึงเริ่มทดสอบแบบไม่เสียบปลั๊กเพื่อหาเวลาการทำงาน ปรับความสว่างอยู่ที่ระดับกลาง เล่นอินเทอร์เน็ตทั่วไปเข้าดูเว็บไซต์เพียงอย่างเดียว เครื่องใช้งานได้นานติดต่อกันประมาณ 5 ชั่วโมงครับ ส่วนพิมพ์งานนั้นในลีนุกซ์ที่มากับเครื่องไม่ได้ทดสอบ เพราะเครื่องที่ได้มาเป็นเวอร์ชันไต้หวันไม่มีภาษาไทย และไม่สามารถโหลดภาษาไทยติดตั้งเพิ่มได้

หลังจากนั้นเราได้ทดสอบดูหนังฟังเพลงโดยโหลดหนังวีซีดี ความยาว 3 ชั่วโมงลงเครื่อง พบว่าภาพและเสียงที่ได้ถือว่าอยู่ในเกณฑ์เกินมาตรฐานเครื่องในระดับเดียวกัน เสียงที่ออกจากลำโพงค่อนข้างใสฟังชัดเจนไม่กระป๋องเหมือนรุ่นก่อน แต่ก็ไม่ได้มีเบสแบบหนักแน่น เอาเป็นว่าเสียงดีตามสไตล์เครื่องโน้ตบุ๊กละกัน ภาพที่ได้แม้ว่าจะเป็นจอแอลซีดีแบบด้าน สีสันความสว่างก็ไม่ได้แพ้แบบจอคริสตัลเลย หากเทียบกันแล้วถ้าไม่สังเกตก็แยกไม่ออกครับ และข้อดีของจอด้านก็คือใช้งานในที่แสงสว่างมากๆ ได้ดี ข้อเสียทำความสะอาดยาก

เราดูรักแห่งสยามได้จนจบเรื่องประมาณ 3 ชั่วโมง แบตเตอรี่เหลืออยู่ประมาณ 25 เปอร์เซ็นต์ โดยรวมแล้วถ้าใช้งานเพื่อความบันเทิง แบตเตอรี่น่าจะอยู่ที่ 4 ชั่วโมงครับ ส่วนฟังเพลง MP3 ก็ได้ประมาณ 4 ชั่วโมงนิดๆ

ในทางกลับกันเราทดสอบแบบเดียวกันอีกรอบ เปลี่ยนแต่ภาพยนตร์เป็นเรื่องอื่น และเปลี่ยนโหมดการใช้งานเป็นแบบไฮ พบว่าใช้งานอินเทอร์เนตทั่วไปจะใช้ได้ประมาณ 3 ชั่วโมง ส่วนดูหนังฟังเพลงได้ประมาณ 2 ชั่วโมงครึ่งเท่านั้น ส่วนฟังเพลงก็ได้ประมาณ 3 ชั่วโมงนิดๆ ครับ

จุดที่น่าสังเกตในระหว่างการใช้งานก็คือเรื่องความร้อนนั้น สำหรับอีพีซี 1000 จัดว่าร้อนถึงร้อนมากเมื่อใช้โหมดไฮขึ้นไป แต่ในโหมดประหยัดพลังงานจะเย็นลง แต่โดยรวมก็ยังถือว่าร้อนกว่ารุ่นที่ไม่ได้ใช้ซีพียูอะตอมอยู่ดี

นอกจากนี้ น้ำหนักในรุ่นฮาร์ดดิสก์รวมแบตเตอรี่จะอยู่ที่ 1.3 กิโลกรัม น้ำหนักขนาดนี้ไม่เหมาะสำหรับการสะพายกระเป๋าเดินทาง เพราะมันจะเหมือนกุมารทองที่ทำให้เรารู้สึกว่ามันหนักไหล่ขึ้นเรื่อยๆ แต่ถ้าเป็นรุ่น SSD น่าจะเหมาะกับการเดินทางมากกว่าครับ รวมทั้งระบบลีนุกซ์ที่ก็ไม่ได้ประทับใจเท่าไหร่นัก เบราเซอร์ไฟร์ฟ็อกซ์ยังเป็นรุ่น 2.0 แถมติดตั้งเพิ่มเองไม่ได้ต้องรอโปรแกรมจากทางอัสซุสเท่านั้น ดังนั้นเปลี่ยนมาลงวินโดวส์ หรือลีนุกซ์อูบันตู น่าจะเหมาะกว่า

สุดท้ายในการทดสอบแบบพิมพ์งานซึ่งเป็นหัวใจหลักที่ผู้ใช้ทำงานบนอีพีซีมากที่สุด แต่เนื่องจากเครื่องทดสอบเป็นลีนุกซ์ที่ไม่มีภาษาไทย เราจึงต้องใช้ลีนุกซ์ทะเลเวอร์ชันยูเอสบีทดสอบภาษาไทยพิมพ์ (กว่าจะหาทางทำให้บู๊ตได้ก็นานอยู่เหมือนกัน) ตัวเลขที่ได้จากการพิมพ์งานนั้นอาจจะไม่ตรงความเป็นจริงสักเท่าไหร่นัก เนื่องจากลีนุกซ์ทะเลไม่ได้มีไดรฟ์เวอร์สำหรับการจัดการพลังงานในเครื่อง เวลาที่ใช้พิมพ์งานเอกสารทั่วไปจึงอยู่ประมาณ 3 ชั่วโมง ส่วนความคล่องตัวในการพิมพ์งานจัดว่าดีกว่ารุ่นเดิมมาก แต่หากเทียบกับแอสไปร์วันแล้วยังด้อยกว่าเล็กน้อย ต้องใช้เวลาในการปรับตัวอยู่หลายวันกว่าจะคุ้นเคยครับ

สรุป สำหรับเครื่องอีพีซี 1000 เรียกได้ว่าเป็นอีกทางเลือกหนึ่งสำหรับผู้ที่ต้องการเครื่องขนาดเล็กไว้ใช้งาน เวลานี้เราไม่กล้าที่จะบอกราคาเต็มๆ สำหรับการเปรียบเทียบ เพราะดูเหมือนว่าเราอยู่ท่ามกลางสมรภูมิการแข่งขันด้านราคา หากมองเผินๆ แน่นอนว่าประโยชน์ตกกับผู้ใช้เต็มๆ แต่หากมองให้ดีแล้ว คนที่เจ็บก็คือผู้ที่ตัดสินใจซื้อทั้งที่คิดไว้อย่างรอบคอบแล้ว

เราเคยเห็นราคาของลดลงมาเกือบๆ 5,000 บาท หลังจากเปิดตัวขายเต็มตัวไม่ถึงเดือนไหม สิ่งนี้เกิดขึ้นแล้วในตลาดโน้ตบุ๊กขนาดเล็กซึ่งก็ไม่รู้จะเรียกว่า มินิโน้ตบุ๊ก หรือเน็ตบุ๊ก กันแน่ เพราะแต่ละเจ้าก็ตั้งชื่อระดับสินค้าของตัวเองขึ้นมา เหลือแต่นิตยสารคอมพิวเตอร์เล่มไหนจะเอาชื่อไหนไปใช้เท่านั้น แต่เรากล้าฟันธงเลยว่า หากคุณต้องการแบตเตอรี่ที่ใช้งานได้ยาวนานครึ่งวัน ก็ไม่มีเหตุผลใดที่จะไม่เลือกอีพีซี เพียงแต่รุ่นฮาร์ดดิสก์คงไม่ใช่ทางเลือกที่ดีสำหรับคนที่ต้องการพกพานอกสถานที่ SSD จึงเหมาะที่สุดทั้งความเร็วในการทำงาน ความเบาในการพกพาและความร้อนที่น้อยกว่าแบบฮาร์ดดิสก์

การออกแบบ 8 (ดูสวยงามน่าใช้ ดูถึกและบึกบึน สรุปเท่ได้ใจ)

คุณภาพการผลิต 7 (ที่จริงน่าจะได้ 8 แต่ปุ่มเปิดปิดเครื่องทดสอบกดไม่ค่อยดี)

การใช้งาน 8 (ได้ใจตรงเสียงของลำโพงและแบตเตอรี่นี่ละ)

ความคุ้มค่าคุ้มราคา 7 (ไม่กล้าฟันธงเรื่องราคาเอาไปเท่านี้ละกัน)


--~--~---------~--~----~------------~-------~--~----~
****  รู้จักขอบคุณเมื่อได้รับ   ขออภัยเมื่อผิดพลาด  คือสิ่งที่สมาชิกกลุ่มพึงกระทำ  ****
กติกา  ง่ายๆ ในกลุ่ม
0. ห้ามโพสเรื่องการเมือง หรือถกเถียงเรื่องการเมืองที่จะก่อความวุ่นวายภายในกลุ่ม
     ฝ่าฝืนแบนทันทีโดยไม่แจ้งให้ทราบ  
1. ห้ามโพสรูปภาพหรือข้อความที่เกี่ยวข้องกับสถาบันพระมหากษัตริย์ในทางเสื่อมเสีย
2. ห้ามใช้วาจาหยาบคาย  ห้ามบ่นว่าเมล์ หรือ reply เยอะ  
3. ห้ามโฆษณาที่หวังผลประโยชน์ทางการค้า  ใครโพสแบนทันทีโดยไม่แจ้งให้ทราบ
4.  ไม่ได้รับเมล์อีก(กรุณาอ่านด้วย) http://www.bloggang.com/viewblog.php?id=nulex&group=1
5. กรุณาใช้ถ้อยคำที่สุภาพ
6. ห้ามส่ง Invite เวปบิทเข้ากรุ๊ปโดยเด็ดขาด

 - ส่งเมล์เข้ากลุ่มได้ที่   nulex@googlegroups.com  
 - สมัครรับเมล์-ส่งเมล์เปล่ามาที่   nulex-subscribe@googlegroups.com
 - ลาออกจากกลุ่ม-ส่งเมล์เปล่ามาที่   nulex-unsubscribe@googlegroups.com
 * ทั้งสมัครและลาออก  ต้องยืนยันลิงค์จากระบบทุกครั้ง  

อย่าลืมนะคะ มีอะไรก็แบ่งปัน
    ^ นู๋เล็ก ^  
Group's Owner
(-`๏'•ิ__•ิ`๏'-)
-~----------~----~----~----~------~----~------~--~---

ไม่มีความคิดเห็น: