วันจันทร์ที่ 13 ธันวาคม พ.ศ. 2553

RE: [SIAMHRM.COM :31267] ห้ามพนักงานประกอบธุรกิจนอกเวลางาน ทำได้หรือไม่ครับ???

สวัสดีครับ อดิศร ครับ
   กรณีนี้ให้กำชับผู้บังคับบัญชาที่อนุญาตให้ลากิจไปนะครับ
เพราะกรณีลากิจนายจ้างมีอำนาจที่จะไม่อนุญาตได้ ยกเว้นว่าเป็นกิจธุระอันจำเป็นจริง ๆ
ซึ่งพฤติกรรมของพนักงานคนนี้ที่ลากิจไปถึงแม้จะอ้างว่ามีความจำเป็น แต่การที่ลาไปทำงานกับบริษัทอื่นก็ไม่ถูกต้องครับ
 และเข้าข่ายที่เอาเปรียบนายจ้างครับ   ซึ่งอาจทำให้ธุรกิจนายจ้างเสียหายได้ด้วย  
  นอกจากนี้หากระเบียบของนายจ้าง กำหนดให้จ่ายค่าจ้างในวันลากิจให้แก่ลูกจ้างด้วยแล้ว  นายจ้างมีสิทธิเลิกจ้างได้ทันทีโดยไม่จ่ายค่าชดเชยครับ
เพราะเข้าข่ายการกระทำอันเป็นการแสวงหาผลประโยชน์อันมิควรได้ หรือทุจริตต่อหน้าที่ตามมาตรา 119 ครับ
ในทางคดีแล้ว หากนายจ้างได้อนุญาตให้ลากิจไป นายจ้างจะเสียเปรียบได้ครับ ต่อไปให้ผู้บังคับบัญชาเข้มงวดเรื่องนี้มากขึ้นนะครับ
 
 
    ส่วนลาพักร้อนนั้น ตามกฎหมายคือวันหยุด ไม่ใช่วันลา  ที่เรียกว่าวันหยุดพักผ่อนประจำปี ตามมาตรา 30 ครับ
นายจ้างมีสิทธิที่กำหนดให้ลูกจ้างหยุดพักผ่อนประจำปีวันไหนก็ได้ หรือนายจ้างกับลูกจ้างอาจตกลงกันล่วงหน้าว่าจะหยุดวันไหนก็ได้ครับ
แต่ไม่ใช่ให้ลูกจ้างมาขอลา 
  ซึ่งเมื่อลูกจ้างได้หยุดไปตามสิทธิที่ตกลงกันกับนายจ้างไว้แล้ว เค้าจะไปทำอะไรก็ได้ แต่ถ้าไปทำงานอื่นที่ทำให้เกิดความเสียหายกับนายจ้าง
นายจ้างก็อาจพิจารณาโทษได้เช่นกันครับ เพราะวันหยุดพักผ่อนประจำปี นายจ้างต้องจ่ายค่าจ้างตามมาตรา 56 ให้ด้วย
อย่างนี้ลูกจ้างก็อาจเข้าข่ายแสวงหาผลประโยชน์อันมีควรได้เช่นกันครับ
   กรณีนี้นายจ้างต้องไปแก้ไขเอกสารทั้งหมด รวมทั้งระเบียบของวันหยุดพักผ่อนประจำปีให้ถูกต้องตามกฎหมายครับ ห้ามใช้คำว่าลาพักร้อนเด็ดขาด
เพราะไปสู้ทางคดีแล้ว จะเป็นโมฆะได้ครับ
 
   ขอแนะนำในการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า กรณีนี้คือ เรียกพนักงานมาตักเตือนด้วยวาจาไปก่อนครับ อธิบายให้เค้าเข้าใจว่าการกระทำอย่างนี้ทำให้นายจ้างเสียหาย
เพราะแทนที่จะทำงานให้นายจ้างได้เต็มที่ แต่กลับต้องลากิจไปทำงานให้บริษัทอื่น ซึงไม่เหมาะสมครับ และบอกไปด้วยว่า ถ้าเป็นกรณีลาไปทำงานอื่นอย่างนี้อีก
คราวต่อไป จะไม่อนุญาต  อธิบายให้ครอบคลุมไปถึงโทษที่เค้าจะได้รับหากยังฝ่าฝืนเช่นนี้อีกด้วยครับ
  หากพนักงานเชื่อฟังดี ก็จบครับ แต่หากยังมีพฤติการณ์เช่นเดิมอีก ก็ต้องตักเตือนเป็นหนังสือ และหากยังฝ่าฝืนซ้ำอีก ภายในระยะเวลา 1 ปี นับแต่วันที่กระทำผิดและได้รับหนังสือเตือนไปแล้ว
ก็เลิกจ้างได้ทันทีโดยไม่จ่ายค่าชดเชยครับ
 
   นอกจากนี้หากยังไม่มีระเบียบเรื่องนี้กำหนดไว้ในข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงาน ก็ควรเขียนเพิ่มเติมขึ้นมาให้ครอบคลุม และส่งให้พนักงานตรวจแรงงานสำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน
รับทราบ แล้วก็ประกาศใช้ระเบียบนี้ให้พนักงานทุกคนทราบโดยทั่วกันครับ ต่อไปจะได้ชัดเจนมากขึ้น
อดิศร

From: wichean.moo@hotmail.com
To: adisorn_pers@hotmail.com
Subject: RE: [SIAMHRM.COM :31248] ห้ามพนักงานประกอบธุรกิจนอกเวลางาน ทำได้หรือไม่ครับ???
Date: Mon, 13 Dec 2010 17:27:13 +0700

สวัสดีครับ อ.อดิศร ขอแชร์ข้อมูลด้วยครับ พอดีที่บริษัทมีเหตุการณ์คล้ายแบบนี้ คือพนักงานใช้เวลาออกไปทำงานข้างนอก(งานลักษณะเดียวกับบริษัท)
แต่จะลาไปเช่น ลากิจ(เขียนในใบลาว่าทำธุระส่วนตัว),ลาพักร้อน แต่ตัวเองไปทำงานกับบริษัทนี้ โดยที่วันลาเป็นวันทำงาน อย่างนี้บริษัทลงโทษพนักงาน
ได้หรือไม่ครับ
 
Sam
 

From: adisorn_pers@hotmail.com
To: james.bodin0206@yahoo.co.th; lovelyhrs@googlegroups.com; siamhrm@googlegroups.com
Subject: RE: [SIAMHRM.COM :31248] ห้ามพนักงานประกอบธุรกิจนอกเวลางาน ทำได้หรือไม่ครับ???
Date: Mon, 13 Dec 2010 12:56:57 +0700

สวัสดีครับ อดิศร ครับ
 
ข้อที่ 1. นายจ้างจะออกระเบียบอย่างนี้มาก็ได้ครับ และถ้าลูกจ้างยินยอมลงนามในสัญญา ก็จะทำให้สัญญานั้นมีผลใช้บังคับได้เช่นกัน
เพราะนายจ้างอาจจะมีเหตุผลที่สมควรแก่เหตุในการทำสัญญาเป็นข้อกำหนดในการว่างจ้างลูกจ้างอย่างนี้ก็ได้  ขึ้นอยู่กับเหตุผลหรือเจตนารมณ์ของนายจ้าง
ว่าสมควรแก่เหตุหรือไม่  และลูกจ้างมีปัญหาในการทำงานกับนายจ้างหรือไม่
 แต่ทั้งนี้หากเหตุผลนายจ้างไม่เพียงพอ หรือไม่มีเหตุผลอันควร และลูกจ้างไม่ยินยอม ลูกจ้างก็อาจไม่ลงนามในสัญญาก็ได้ ขึ้นอยู่กับความพอใจของลูกจ้างเช่นกันครับ
นายจ้างจะไปบังคับก็ไม่ได้ครับ สัญญาจ้างนั้นจะต้องตกลงยินยอมด้วยกันทั้งสองฝ่าย หรือหากลูกจ้างไม่เห็นด้วย อาจจะยอมลงนาม ( โดยนายจ้างบังคับ ) หรือไม่ยอมลงนามก็แล้วแต่
ฝ่ายลูกจ้างก็ไปร้องต่อพนักงานตรวจแรงงาน ในมาตรา 14/1 เพื่อให้ศาลบังคับนายจ้างให้ยกเลิกสัญญาที่ไม่เป็นธรรมต่อลูกจ้างได้ครับ
  ประเด็นนี้นายจ้างน่าจะเสียเปรียบครับ เพราะดูแล้วไม่เป็นธรรมและอาจเข้าข่ายไปละเมิดสิทธิในการประกอบอาชีพอื่น ๆ ของลูกจ้างได้ครับ
  ลูกจ้างย่อมมีสิทธิส่วนบุคคลที่จะประกอบอาชีพเสริมได้ หากว่าไม่เป็นการเบียดบังเวลาทำงานของนายจ้างหรือไม่เป็นอาชีพที่ส่งผลกระทบต่อธุรกิจของนายจ้างครับ
  ระเบียบที่ถูกต้องและเป็นธรรมด้วยกันทั้งสองฝ่าย น่าจะออกมาว่า ห้ามลูกจ้างใช้เวลาทำงานของนายจ้างไปประกอบอาชีพส่วนตัวหรืออาชีพอื่นใดที่ทำให้ธุรกิจนายจ้างเสียหายมากกว่าครับ ส่วนนอกเวลางานไม่ควรไปบังคับ
 
ข้อที่ 2. นายจ้างจะออกประกาศให้พนักงานแจ้งเรื่องการประกอบอาชีพอะไรอยู่บ้างก็ได้ครับ แต่ขึ้นอยู่กับว่านายจ้างเอาข้อมูลที่ได้มาทำอะไร
ถ้าทำแล้วเป็นคุณต่อลูกจ้างก็ไม่มีปัญหา แต่ถ้าทำแล้วเป็นโทษต่อลูกจ้างก็ไม่ได้ครับ ยกเว้นว่าอาชีพหรือกิจกรรมนั้นได้ส่งผลกระทบต่อธุรกิจของนายจ้าง
นายจ้างก็อาจสั่งห้ามได้ ถ้าฝ่าฝืนก็ควรใช้กระบวนการพิจารณาทางวินัยเป็นราย ๆ ไป จึงจะสามารถแก้ปญหาได้แม่นยำและรวดเร็ว
แต่ถ้าจะเอาไปประกอบผลการพิจารณาเงินเดือนหรือโบนัส ไม่เหมาะสมในแง่การบริหารงานบุคคลอย่างยิ่งครับ
การประเมินผลหรือการบริหารผลงานก็ต้องมาดูในประเด็นของผลงาน ถ้าใครมีผลงานดีหรือไม่ดีอย่างไร ก็ว่ากันไปตามเนื้อผ้า
บางคนอาจทำธุรกิจส่วนตัวของเค้า ซึ่งไม่กระทบให้นายจ้างเสียหายอะไร และเค้ามีผลงานดีด้วย ก็ต้องให้เค้าไปตามผลที่ออกมาอย่างเป็นธรรมครับ
ถ้าเอาเกณฑ์อย่างนี้มาคิดด้วย ซึ่งมันไม่ได้เกี่ยวข้องอะไรกันเลย  องค์กรนั่นล่ะครับที่จะเสียหาย
เพราะทำให้ลูกจ้างไม่ได้รับความเป็นธรรมกับนายที่ทำให้นายจ้างอยู่ การบริหารผลงานหรือการประมินผลงานเพื่อสร้างแรงจูงใจในองค์กรนั้น
หลักการแล้วมีวตถุประสงค์เพื่อนำผลที่ได้มาปรับปรุงพัฒนาศักยภาพของบุคลากรเป็นอันดับแรก ใครมีจุดแข็งอะไรก็ต้องนำมาวิเคราะห์
เพื่อพัฒนาจุดแข้งของเค้าให้เกิดประโยชน์ให้มากที่สุด หรือหากใครมีจุดอ่อนเรื่องอะไร ก็ต้องนำมาวิเคราะห์หาความจำเป็นในการฝึกอบรม
ส่วนผลตอบแทนนั้นเป็นผลพลอยได้ที่เราควรให้กับพนักงานที่
มีผลงานดี มีศักยภาพเป็นที่ยอมรับ เพื่อสร้างแรงจูงใจในองค์กรครับ 
   ถ้ามีระเบียบอย่างนี้ไม่เป็นผลดีต่อองค์กรแน่นอนครับ คงไม่มีใครอยากทำงานด้วย
 
ข้อที่ 3. ประเด็นนี้ขึ้นอยู่กับอาชีพหรือกิจกรรมที่ลูกจ้างทำครับ ว่าส่งผลเสียหายต่อนายจ้างหรือไม่
ถ้าส่งผลเสียหายจริง นายจ้างสามารถใช้อำนาจบังคับบัญชาสั่งห้ามได้ครับ ถ้าลูกจ้างฝ่าฝืนก็พิจารณาโทษได้
และอาจเป็นโทษร้ายแรงที่นายจ้างเลิกจ้างได้ทันทีโดยไม่จ่ายค่าชดเชยด้วยซ้ำ เช่นเอาเวลางานนายจ้างไปทำงานส่วนตัว
อย่างนี้ก็อาจเข้าข่ายทุตริตต่อหน้าที่ตามมาตรา 119 ได้ครับ
  ในทางตรงข้าม หากอาชีพเสริมหรือกิจกรรมอะไรก็แล้วที่ลูกจ้างทำอยู่ แล้วไม่ส่งผลเสียหายต่อนายจ้าง
นายจ้างควรจะส่งเสริมหรือสนับสนุนด้วยซ้ำ เพื่อสร้างขวัญกำลังใจ และยังจะเป็นการเสริมทักษะให้ลูกจ้างมีศักยภาพ
มากขึ้นด้วยซ้ำ เช่นหากทำธุรกิจขายรถ แล้วลูกจ้างมีอาชีพเสริมค้าขายเสื้อผ้า ยิ่งน่าส่งเสริมมาก ๆ ด้วยซ้ำ
เพราะเป็นการฝึกให้ลูกจ้างทำธุรกิจ รู้จักค้าขายเป็น ถ้าลูกจ้างคนนั้นไม่ได้ทำงานฝ่ายขาย หากนายจ้างเห็นว่าจากการที่เค้าทำธุรกิจ
ส่วนตัวค้าขายอยู่ด้วย หากมีโอกาสก็ควรจะเลื่อนตำแหน่งเค้ามาทำฝ่ายขายเลยครับ อาจจะมาฝึกสอนทักษะเค้าเพิ่มเติมด้วยก็ยิ่งดี
นายจ้างมีแต่ได้กับได้นะครับ แม้กระทั่งส่งเสริมให้เค้าทำธุรกิจขายพวกอุปกรณ์ตกแต่งรถ หรือน้ำหอมปรับอากาศในรถ อะไรต่าง ๆ
เหล่านี้ ควรส่งเสริม มากกว่าไปห้ามครับ
   จริง ๆ แล้วนายจ้างไม่ควรไปใช้วิธียุ่งยากว่าจะต้องให้ลูกจ้างส่งรายงานอะไรต่ออะไรมาให้อนุมัติเลยครับ
เสียเวลาเปล่า ๆ ง่าย ๆ เลย คือนายจ้างออกระเบียบมาเลยครับ อยากจะห้ามอะไร อยากจะแก้ปัญหาอะไรก็เขียนออกมา
เช่น   ห้ามพนักงานทำธุรกิจที่เป็นการแข่งขันกับนายจ้าง
        ห้ามพนักงานเอาเวลางานไปทำธุรกิจส่วนตัว
        ห้ามพนักงานปล่อยเงินกู้ซื้อขายหวยใต้ดิน หรือเล่นแชร์กันภายในบริษัท
        ห้ามพนักงานทำธุรกิจขายตรงที่เข้าข่ายแชร์ลูกโซ่
        พร้อมทั้ง ออกคำเตือนกำกับท้ายข้อห้ามไปว่า 
         -  พนักงานที่ทำธุรกิจส่วนตัวนอกจากที่ประกาศเป็นข้อห้ามแล้วนี้ ให้ทำได้
        แต่จะต้องไม่ทำให้งานที่รับผิดชอบอยู่เสียหาย
         -  พนักงานที่ฝ่าฝืนข้อห้ามดังกล่าวและทำให้บริษัทเสียหาย อาจถูกพิจารณาเลิกจ้างได้ทันทีโดยไม่จ่ายค่าชดเชย
     เป็นต้นครับ
          อยากจะห้ามลูกจ้างทำอะไรก็เขียนออกมาเลย โดยไม่ไปละเมิดสิทธิส่วนบุคคลของลูกจ้าง
    นายจ้างมีสิทธิอยู่แล้ว เมื่อทำระเบียบนี้ออกมาแล้วก็ส่งให้พนักงานตรวจแรงงานเค้าตรวจสอบว่ามีอะไรขัดต่อกฎหมายหรือไม่
    ถ้าเรียบร้อยดี ก็ประกาศออกมาให้ลูกจ้างทราบโดยทั่วกัน เท่านี้ก็เสร็จแล้วครับ ใครฝ่าฝืนก็ว่ากันไปตามมาตรการทางวินัยได้เลย
    ง่ายกว่าเยอะครับ 
 
ข้อที่ 4.  ประกาศหรือระเบียบต่าง ๆ นั้น หลักการแล้วจะต้องทำให้มีความชัดเจน มีกรอบที่แน่นอน อ่านแล้วเข้าใจไปในเรื่องเดียวกัน
            และต้องไม่ขัดต่อกฎหมาย มีความเป็นธรรมในการใช้บังคับ  จะห้ามอะไรก็เขียนออกมาเป็นเรื่อง ๆ ไปเลยครับ อย่าเขียน
            ให้กว้างจนเกินไป อะไรที่ควรระบุให้ชัดเจนก็ระบุลงไปได้แบบไม่ต้องเกรงใจเลยครับ ตราบใดที่ไม่ขัดต่อกฎหมาย
           เพราะถ้าไม่เป็นไปตามนี้แล้ว เช่นเขียนออกมากว้างมากอย่างที่คุณบอกมา  มันจะตีความได้หลายเรื่อง
            หรือออกมาแล้วเป็นการเอาเปรียบลูกจ้างเกินสมควร
            บอกได้เลยว่าปัญหาจะตามมามากมายให้ปวดหัว จนวัน ๆ หัวหน้าคุณคงไม่ต้องไปทำอะไรครับ
            และต่อไปพนักงานคงทะยอยกันลาออกแน่ เพราะมีข้อห้ามเรื่อง ห้ามทำอาชีพเสริมนอกเวลางานอยู่ด้วย โดยไม่ได้ระบุว่าเป็นอาชีพอะไร
            นั่นก็หมายถึงทุกอาชีพเลยนะครับ
            ความรู้สึกของพนักงานที่ได้อ่าน
            เค้าอาจจะคิดไปว่า เสมือนเค้าตกเป็นทาสนายจ้างก็ได้นะครับ   ยกเว้นว่าข้อห้ามของนายจ้างเรื่องการทำธุรกิจส่วนตัวนอกเวลางานนั้น
            นายจ้างจะมีเหตุผลอันสมควรที่ลูกจ้างยอมรับได้ ก็ไม่มีปัญหาอะไรครับ
            แต่ถ้าเหตุผลคลุมเครือ ก็จะทำให้คุณภาพชีวิตเค้าไม่ดี   และไม่มีความสุขที่ได้ทำงานกับบริษัทนี้ เมื่อไม่มีความสุข จะให้เค้าทำงานเต็มความสามารถ
            ก็คงเป็นไปไม่ได้แล้ว  และถ้ามีโอกาสเค้าไปหาที่อื่นที่ไม่มีข้อห้ามอย่างนี้จะดีกว่า ธุรกิจของนายจ้างเสียหายได้อย่างคาดไม่ถึงจากระเบียบทำนองนี้ครับ
            โดยเฉพาะธุรกิจค้าขายที่ต้องให้บริการลูกค้าด้วย ก็ยิ่งอันตรายครับ  แค่พนักงานเครียดไม่ยิ้มแย้มแจ่มใส ลูกค้าก็ไม่พอใจแล้วครับ
 
             ถ้าในฐานะคุณเป็นคนกลางควรจะทำอย่างไร ผมว่าต้องรีบคุยกับหัวหน้าถึงหลักการและเหตุผลตลอดจนผลกระทบที่จะตามมาดีกว่าครับ
             แล้วเรื่องนี้ก็ไม่ยากที่จะแก้ โดยเอาข้อที่ 3. เป็นแนวทางก็ได้ครับ
              อย่าลืมว่าคนที่เขียนกฎออกมาก็จะต้องอยู่ภายใต้กฎนี้เหมือนกัน ถ้าลองอ่านดูแล้วโดยนึกถึงว่าตัวเองก็เป็นลูกจ้างคนหนึ่ง
              และเห็นว่าตัวเองก็ไม่ได้รับความเป็นธรรมจากสิ่งที่เขียนออกมานี้ ก็แสดงว่ากฎนั้นใช้ไม่ได้ครับ
 
อดิศร

Date: Sun, 12 Dec 2010 01:28:18 +0800
From: james.bodin0206@yahoo.co.th
Subject: [SIAMHRM.COM :31219] ห้ามพนักงานประกอบธุรกิจนอกเวลางาน ทำได้หรือไม่ครับ???
To: siamhrm@googlegroups.com

สวัสดี อ.อดิศร และสมาชิกทุกท่านครับ

ขอความรู้และความคิดเห็นของทุกท่านด้วยครับ เรื่องการออก Code of Conduct ห้ามพนักงานไปทำธุรกิจส่วนตัว/กิจกรรมภายนอกอื่นๆ ทั้งภายในและ ภายนอกเวลาทำงาน ถ้าหากพนักงานมี หรือจะมีธุรกิจ/กิจกรรมภายนอกอื่นๆ จะต้องได้รับการอนุมัติจากกรรมการผู้จัดการเป็นกรณีๆ ไป

คำถามที่ 1 บริษัท สามารถทำได้หรือไม่? มีผลตามกฎหมายหรือไม่?
(ความคิดเห็นส่วนตัวของผม ผมคิดว่า บริษัทสามารถทำได้ แต่จะมีผลตามกฎหมายเฉพาะกรณีที่พิสูจน์ได้ว่า ธุรกิจ นั้นขัดต่อผลประโยชน์ของบริษัท และทำให้บริษัทได้รับความเสียหาย นอกจากนั้น ไม่มีผลตามกฎหมาย เช่น บริษัทขายรถ พนักงานเปิดร้านขายเสื้อผ้า ถึงพนักงานจะลงนามยินยอมในสัญญา สัญญาก็จะถือเป็นโมฆะ ถ้าพนักงานฟ้อง ร้อยทั้งร้อย นายจ้างแพ้ ผมเข้าใจถูกต้องไหมครับ)

คำถามที่ 2  หากบริษัท ออกประกาศให้พนักงานทุกคน แจ้งกลับว่าตนเองประกอบกิจกรรมอะไรอยู่บ้าง เพื่อให้กรรมการผู้จัดการอนุมัติ ถ้าพนักงานไม่แ้จ้ง จะมีผลอะไรหรือไม่ครับ เช่น นำมาประกอบการพิจารณาปรับเงินเดือน โบนัส ฯลฯ ได้หรือไม่
(ตามความคิดเห็นส่วนตัว ผมคิดว่า เรื่องนี้เป็นสิทธิและเสรีภาพของลูกจ้าง ที่จะประกอบสัมมาอาชีพอื่นๆ ที่ไม่ขัดขวางผลประโยชน์ของบริษัท/ไม่ขัดกฎหมายและศีลธรรม โดยไม่ได้ใช้เวลาทำงานมาประกอบกิจนี้ หากนายจ้างนำมาพิจารณาการจ่ายผลตอบแทนของพนักงาน ถือว่านายจ้างไม่เป็นธรรม ถ้าฟ้อง ร้อยทั้งร้อย นายจ้างแพ้ ถูกไหมครับ)

คำถามที่ 3 หากพนักงานแจ้งไปแล้วว่าตนเองทำอะไรอยู่บ้าง แต่ปรากฎว่านายจ้างไม่อนุมัติ และพนักงานไม่ยินยอมที่จะเลิกการประกอบกิจกรรมของตนเอง จะเกิดอะไรขึ้นครับ 
(ผมว่า พนักงานคนนี้แย่แล้วครับ ต้องเลือกแล้วล่ะ ถ้าจะเลือกกิจการของตนเอง อนาคตที่นี่ก็ดูจะริบหรี่ ถ้าไม่ลาออก ก็อาจจะถูกบีบออก หรือจ้างออก นั่นหมายความว่า บริษัทเกิดปัญหาแรงงานสัมพันธ์ โดยที่บริษัททำไปโดยไม่ได้คำนึงถึงเรื่องนี้ (มัวแต่คำนึงถึงผลประโยชน์ของตนเองฝ่ายเดียว) ใช่หรือไม่ครับ ผมคิดถูกไหม) 

คำถามที่ 4 ถ้าหัวหน้าผมออกประกาศเรื่องนี้ แจกแบบฟอร์มไปแล้วด้วย (ทำเองเลยครับงานนี้) โดยข้อความบอกแค่กว้างๆ ว่าห้ามพนักงานประกอบธุรกิจอื่นทั้งในและนอกเวลาทำงาน ไม่ได้ระบุเฉพาะเจาะจงว่าธุรกิจอะไรบ้างที่อนุญาตหรือไม่อนุญาต เพราะเหตุใด และให้พนักงานแจ้งมาเพื่อให้กรรมการผู้ัจัดการอนุมัติ ..อย่างนี้ผมในฐานะคนกลางควรทำอย่างไรดีครับ 

ขอความช่วยเหลือทุกคนด้วย ผมว่ามีอีกหลายๆ ที่ทำแบบนี้นะครับ

บดินทร์  
ผมอยากเป็น HR มืออาชีพครับ.. 


--
- โปรดร่วมกัน เสวนา ถาม-ตอบ วันละ 1 กระทู้ สร้างความรู้ใหม่ได้ มหาศาล -
 
แนะนำ :
 
http://www.JobSiam.com : โปรโมชั่น*! ลงประกาศตำแหน่งงาน แถมฟรี สูงสุด 2 เดือน ถึง 31 ธันวาคม 2553 นี้
http://www.SiamHRM.com : สยามเอชอาร์เอ็ม ดอทคอม รวมพลคนทำงาน มากที่สุด
http://www.facebook.com/JobSiam ติดตามตำแหน่งงาน Update. ~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~
 
คุณได้รับข้อความนี้เนื่องจากคุณเป็นสมาชิกกลุ่ม Google Groups กลุ่ม "บริหารทรัพยากรมนุษย์ ประเทศไทย"
- หากต้องการโพสต์ ถึงกลุ่มนี้ ให้ส่งอีเมลไปที่ siamhrm@googlegroups.com
- หากต้องการยกเลิกการเป็นสมาชิกกลุ่ม ส่งอีเมลไปที่ siamhrm+unsubscribe@googlegroups.com (ยืนยัน การยกเลิกใน Email อีกครั้ง.)
- หากต้องการดูกระทู้ หัวข้อ HR โปรดไปที่กลุ่มนี้โดยคลิกที่ http://groups.google.co.th/group/siamhrm?hl=th&pli=1
- เนื่องจากสมาชิกมีจำนวนมาก สมาชิกทุกท่าน ควรอ่านกติกา มารยาท และใช้เมล์กรุ๊ปร่วมกัน อย่างสร้างสรรค์
~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~

--
- โปรดร่วมกัน เสวนา ถาม-ตอบ วันละ 1 กระทู้ สร้างความรู้ใหม่ได้ มหาศาล -
 
แนะนำ :
 
http://www.JobSiam.com : โปรโมชั่น*! ลงประกาศตำแหน่งงาน แถมฟรี สูงสุด 2 เดือน ถึง 31 ธันวาคม 2553 นี้
http://www.SiamHRM.com : สยามเอชอาร์เอ็ม ดอทคอม รวมพลคนทำงาน มากที่สุด
http://www.facebook.com/JobSiam ติดตามตำแหน่งงาน Update. ~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~
 
คุณได้รับข้อความนี้เนื่องจากคุณเป็นสมาชิกกลุ่ม Google Groups กลุ่ม "บริหารทรัพยากรมนุษย์ ประเทศไทย"
- หากต้องการโพสต์ ถึงกลุ่มนี้ ให้ส่งอีเมลไปที่ siamhrm@googlegroups.com
- หากต้องการยกเลิกการเป็นสมาชิกกลุ่ม ส่งอีเมลไปที่ siamhrm+unsubscribe@googlegroups.com (ยืนยัน การยกเลิกใน Email อีกครั้ง.)
- หากต้องการดูกระทู้ หัวข้อ HR โปรดไปที่กลุ่มนี้โดยคลิกที่ http://groups.google.co.th/group/siamhrm?hl=th&pli=1
- เนื่องจากสมาชิกมีจำนวนมาก สมาชิกทุกท่าน ควรอ่านกติกา มารยาท และใช้เมล์กรุ๊ปร่วมกัน อย่างสร้างสรรค์
~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~

ไม่มีความคิดเห็น: