จากใจ บ.ก. ใกล้ตัว - ฉบับที่ ๑๖๗
เชื้อโรคขัดขวางความสำเร็จ
สองเชื้อโรคในหัว ที่ทำให้คนคนหนึ่งอ่อนแอเกินกว่าจะประสบความสำเร็จในชีวิต คือ ความคิดว่าทำไม่ได้ กับความคิดว่า ยังไม่ต้องทำตอนนี้ก็ได้!
ชีวิตทั้งชีวิตฝากไว้กับวิธีคิด ถ้าสำรวจแล้วพบว่าความคิดของคุณ มีคำว่า ‘ทำไม่ได้’ เป็นตัวยืนโรง ก็เป็นอันว่าจบ ไม่ต้องลุ้น ไม่ต้องคาดหมายอะไรทั้งสิ้น ชีวิตคุณจะถูกเบรกก่อนสตาร์ทเพื่อออกวิ่งเข้าเส้นชัยทุกครั้ง พูดง่ายๆ กี่ปีๆผ่านไป คุณก็จะพบว่าตัวเองอยู่ที่หลังเส้นสตาร์ทเสมอ
ศักยภาพทั้งหมดอาจเป็นหมัน เพียงด้วยวิธีคิดแบบคนขี้เกียจ หรือผัดวันประกันพรุ่ง ถ้าสำรวจแล้วพบว่าความคิดของคุณ มีคำว่า ‘เอาไว้ค่อยทำก็ได้’ แม้พร้อมจะลงมือทำได้เดี๋ยวนั้นอยู่แล้ว ชีวิตคุณอาจพัฒนาได้บ้าง แต่จะเอื่อยเฉื่อยเชื่องช้าอย่างน่าโมโห หรืออาจกระทั่ง ‘คิดจะทำ’ ตั้งแต่อายุ ๒๐ แต่จน ๗๐ แล้วยังไม่ได้ทำสักที เหตุเพราะตัว ‘คิดจะทำ’ มันปราบตัว ‘ทำที่คิด’ ลงราบคาบทุกครั้ง วันต่อวัน
วิธี ‘ฆ่าเชื้อโรคในหัว’ ต้องอาศัยความเต็มใจอย่างยิ่งยวด เพราะยาแรงที่สุดที่ได้ผลทันทีไม่มี มีแต่ยากระตุ้นที่ต้องใช้ไปนานๆ เชื้อจึงค่อยๆตายไปเอง
ก่อนอื่นต้องเข้าใจว่าเชื้อโรคในหัวทั้งสอง เพาะตัวขึ้นจากความเคยชินที่จะคิด และเมื่อคิดจนเคยชินนานๆ คิดจนเคยชินมากๆแล้ว ก็จะกลายเป็น ‘อำนาจความเคยชิน’ ที่ทรงอิทธิพลกับชีวิตของคุณอย่างใหญ่หลวง แม้กระทั่งจะพยายามเปลี่ยนความคิด ก็อาจถึงขั้นรู้สึกผิด รู้สึกว่าเหลวไหลกับความอยากจะพยายามนั้น
การจะโค่นอำนาจความเคยชินที่ยิ่งใหญ่ อย่าหวังจะหาอาวุธร้ายไปทำลายทันที แต่ให้เริ่มจากอะไรที่เล็กที่สุดก่อนครับ อย่างถ้าอยู่ร่วมกันกับใครแล้วเราพบว่าตัวเองเกี่ยงภาระ ผัดวันประกันพรุ่ง ก็เริ่มแก้ที่ตรงนั้น เมื่อทำภารกิจในบ้านหรือในที่ทำงานเล็กๆน้อยๆได้ ก็จะเกิดเซนส์ของคนที่เห็นตามจริงว่ามีอะไร ‘ควรทำ’ และ ‘ต้องทำ’ ขึ้นมาได้ ไม่เช่นนั้นจะมีแต่ความรู้สึกแบบคนที่มองไม่เห็นอะไรเลย ชั่งน้ำหนักไม่เป็นเลยว่าอะไรคือสิ่งที่ควรหรือไม่ควรทำ
จากนั้น ถ้าอยากทำอะไรที่เป็นบุญ ที่เป็นกุศลกับคนนอกบ้าน หรือที่ดีที่มีประโยชน์กับร่างกายและจิตใจตนเอง เช่น อยากตื่นมาออกกำลังตอนเช้าเพื่อยืดเส้นยืดสายให้ยืดหยุ่นแข็งแรง หรืออยากตื่นมาใส่บาตรพระเพื่อให้พวกท่านสืบทอดพระศาสนาต่อไปได้ ความอยากดีๆแบบนี้ ถ้าลงเอยเป็นลืมตาตื่นมาขี้เกียจ ข้ออ้างในหัวผุดพราย ก็ต้องสู้กับมัน รีบลุกเลย หักดิบกับมันเดี๋ยวนั้นเลย คิดในใจว่าต้องทำเรื่องดีๆให้สำเร็จตามความตั้งใจให้ได้ เอามันเช้านี้แหละ ไม่มีเช้าอื่นไหนที่ดีกว่าเช้านี้แล้ว
ขอให้จำไว้ว่า ถ้าตอนเช้าตื่นขึ้นมาทำตามความตั้งใจดีๆได้สำเร็จ ก็จะเกิดนิมิตหมายขึ้นมาในใจ สร้างความโน้มเอียงที่จะทำทุกอย่างที่ตามมาในระหว่างวันได้สำเร็จไปด้วย พูดง่ายๆคือ คุณจะมีความคิดว่าสามารถทำได้ สามารถทำสำเร็จ สามารถทำเสร็จเดี๋ยวนี้ขึ้นมาแล้ว
ความคิดดีๆดังกล่าวอาจยังมีพลังอ่อนในช่วงแรก คุณจะรู้สึกถึงความไหลไปไหลมา อ่อนแอปวกเปียก แต่เมื่อวันเดือนปีผ่านไป เรื่องดีเล็กๆน้อยๆที่ทำสำเร็จเสร็จได้ตามความตั้งใจเสมอ จะค่อยๆสะสมพลัง คุณจะรู้สึกถึงความผนึกแน่น ก่อร่างสร้างฐานความคิดว่า ‘เราทำได้’ อย่างมั่นคง
ตรงนั้น ถ้าสังเกตใจตัวเองว่ายังมีเป้าหมายอยู่ในชีวิตหรือเปล่า? คุณเริ่มนับหนึ่งหรือยัง? ถ้าคำตอบคือ ‘ยัง’ คุณก็จะไม่อยากรอวันเสาร์อาทิตย์อะไรทั้งนั้น แต่จะเต็มใจเดินเครื่องเลย ไม่คอยคิดถึงวันหน้าว่าว่างเมื่อไร หยุดยาวเดือนไหน หรือต้องรีไทร์เสียก่อนอะไรทั้งนั้น สิบหรือยี่สิบนาทีหลังเลิกงาน ก็ยังดีที่ได้เริ่ม
แค่สิบหรือยี่สิบนาทีที่ได้เริ่ม มักเป็นก้าวใหญ่กว่าที่คิดนะครับ โดยเฉพาะถ้ามันหมายถึงการจุดเครื่องติด ลองนึกดูว่าตอนสตาร์ทรถนั้น บิดกุญแจชึ่งเดียวใช้เวลาไม่กี่วินาที และฉันใดก็ฉันนั้น การจุดเครื่องเดินหน้าเข้าหาเป้าหมายของชีวิต อาจไม่ต้องใช้เวลามากเกินไปกว่าสร้างความคิดว่า ‘ทำได้’ และ ‘ทำเดี๋ยวนี้’ ขึ้นมาในหัวครับ
ดังตฤณ
กุมภาพันธ์ ๕๖
เรื่องน่าสนใจประจำฉบับ
คอลัมน์ “เพื่อนธรรมจารี” ฉบับนี้ อ่านอีกหนึ่งมุมมองเรื่องการทำทานจากคุณงดงาม
ในตอน “ถวายทานด้วยของเหลือ”
จากนั้น ร่วมรำลึกถึงวันสำคัญของชาวพุทธกับคุณวิลาศินี
ในคอลัมน์ “ยารักษาใจ”
ฉบับนี้ตอน “มาฆบูชารำลึก”
และใครที่เป็นแฟนหนังของโรเบิร์ต เซเมคคิส เช่นเดียวกับคุณ aston27
ต้องไม่พลาดคอลัมน์ “ธนาคารความสุข” ฉบับนี้
อยากทราบว่า ‘ศีล’ มีผลต่อการเปลี่ยนชีวิตตัวเอกในเรื่องอย่างไร
ติดตามได้ในตอน “Flight : เที่ยวบินเปลี่ยนชีวิต” ค่ะ
พบกันใหม่พฤหัสหน้า
ที่ www.dlitemag.com นะคะ
สวัสดีค่ะ (^__^)
---
คุณได้รับข้อความนี้เนื่องจากคุณสมัครรับข้อมูลจากกลุ่ม "ธรรมะใกล้ตัว" ของ Google Groups
หากต้องการยกเลิกการสมัครรับข้อมูลและหยุดรับอีเมลจากกลุ่มนี้ ให้ส่งอีเมลไปที่ dharma-at-hand+unsubscribe@googlegroups.com
หากต้องการดูตัวเลือกเพิ่มเติม กรุณาดูที่ https://groups.google.com/groups/opt_out
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น