วันพุธที่ 19 พฤศจิกายน พ.ศ. 2557

นิตยสารธรรมะใกล้ตัวฉบับที่ ๒๑๒ ประจำวันที่ ๒๐ พฤศจิกายน ๒๕๕๗



จากใจ บ.ก. ใกล้ตัว - ฉบับที่ ๒๑๒

dungtrin_editor_coverระดับของการอภัย

dungtrin_new2

'อภัย' มีหลายแบบ
แต่ละแบบช่วยใจโล่งสบายได้ต่างกัน
เจือจางบาปได้ต่างกัน
เป็นฐานให้ต่อยอดพัฒนาจิตได้ต่างกัน

โดยย่นย่อ ระดับของการอภัย
ยกระดับจิตได้หลายชั้น หลายภูมิ
มีผลต่อสายโซ่ภัยเวรต่างกัน
ทั้งปัจจุบันและในอนาคต

ระดับหยาบ
อยากคิดให้อภัย
แต่ขบเขี้ยวเคี้ยวฟันฝืดฝืน
แสดงว่าใจยังคุมแค้น ยังสะอาดไม่จริง
หรือให้อภัยแล้วเศร้าสร้อยหงอยจ๋อย
ดูเป็นที่สมเพชในสายตาคนอื่น
แล้วก็น่าให้รู้สึกหดหู่สำหรับตัวเอง
แสดงว่าใจยอมแพ้ แค่ไม่อยากต่อสู้
หาใช่ 'แข็งแรงพอจะอภัย' แต่อย่างใด

ระดับกลาง
คิดให้อภัยจริง แต่กลับไปกลับมา
จู่ๆโมโหโกรธาขึ้นมาเองใหม่
แล้วย้อนกลับไปคิดให้อภัยอีก
แสดงว่าใจยังเอาแน่เอานอนไม่ได้
มีตะกอนความเกลียดชังหรือพยาบาทอยู่
พร้อมจะถูกกวนให้ขุ่นขึ้นมาเองเมื่อถึงเวลา
พูดง่ายๆว่า แข็งแรงพอจะอภัยจริง
แต่ก็อ่อนแอพอจะกลับมา 'นึกแค้น' ใหม่ได้

ระดับละเอียด
ให้อภัยแล้วยิ้มสบายหายห่วง
ให้อภัยแล้วเปล่งประกายสุขสดใส
อีกทั้งอภัยแล้วอภัยเลย ไม่กลับกลอกไปมา
แสดงว่าใจสะอาดจริง แข็งแรงจริง มั่นคงจริง
แบบนี้จะเป็นแรงบันดาลใจในสายตาคนอื่น
แล้วก็น่าเบิกบานใจสำหรับตัวเองด้วย

ใจเป็นใหญ่ ใจเป็นประธาน
ที่อภัยได้ต่างระดับกัน
ก็เพราะระดับของใจต่างกัน
หรือใจเล็งเหตุเล็งผลต่างกัน

ถ้าถูกแซงคิว ถ้าโดนขวางทางรถ
แล้วคุณเกิดความโกรธเฉียบพลัน ยากจะห้ามใจ
แต่อุตส่าห์ขบเขี้ยวเคี้ยวฟันแล้วคิดว่า ช่างมัน
เราจะอภัย เราจะปล่อยมันไป
แต่ว่าใจและสายตายังเล็งแลอยากเอาเรื่อง
อยากกรากเข้าไปด่าทอ กระชากคอมาตบ
นี่เรียกว่าอภัยแบบแกล้งข่มใจอดทน
ไม่ให้ผลเป็นความเบากายสบายใจใดๆเลย
ชนวนความคิดเป็นกุศล แต่จิตยังเป็นอกุศลเต็มๆ

แต่ในสถานการณ์เดียวกัน
ถ้าถูกแซงคิว ถ้าโดนขวางทางรถ
สำรวจตนแล้วแน่ใจอยู่กับตัวเองว่า
คุณไม่ใช่คนมักง่ายแซงคิวคนอื่น
ไม่เคยจงใจแกล้งขวางรถคนแปลกหน้าให้รอเล่น
คุณจะเปรียบเทียบจิตเขาจิตเรา
แล้วรู้สึกชัดขึ้นมาขณะหนึ่งว่า
คุณกำลังเห็นจิตวิญญาณต่างภพ
แม้ร่างกายติดอยู่บนพื้นโลกเดียวกัน
แต่จิตวิญญาณอยู่คนละมิติ
ไม่น่าให้เข้าไปยุ่งเกี่ยวกับมิติของเขา
ไม่แม้พัวพันด้วยจิตหยาบๆระดับเดียวกับเขา
จากนั้นคุณจะหลุดจากการเกาะเกี่ยวของความโกรธ
เหมือนจิตเบ่งบานขึ้นมา ปีติเอ่ออ่อนๆ
นี่เรียกว่าอภัยแบบพิจารณาธรรมตามจริง
ความคิดเป็นกุศลจริง แล้วดวงจิตก็เป็นกุศลจริง

อย่างไรก็ตาม ต้องเข้าใจให้ชัดว่า
การอภัย ไม่ได้หมายถึงการปล่อยไปทุกอย่าง
หลายเรื่อง หลายเหตุการณ์ในชีวิตจริง
การไม่ทำอะไรกับคนผิดเลย
คือการไม่มีกติกาอะไรเลย
มีผลให้สันดานดิบของคนเรากำเริบแรงขึ้นได้
ผิดแล้วผิดอีกเพราะนึกว่าไม่เป็นไร

การลงโทษมีหลายแบบ
ถ้าใจคุณอภัยจริงแล้วลงโทษ
ก็มักมีผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในทางดีขึ้น
แต่หากยังคุมแค้นแล้วลงโทษ
ผลมักเป็นการเปลี่ยนแปลงที่แย่ลง
เช่น ถ้าเป็นความผิดสถานเบา
จิตที่อภัยแล้ว จะพูดตำหนิด้วยน้ำเสียงเจือเมตตา
ก่อให้เกิดปฏิกิริยาในทางสำนึกผิด
ส่วนจิตที่ยังคุมแค้น
จะด่าทอรุนแรงด้วยเสียงแข็งกระด้าง
ก่อให้เกิดปฏิกิริยาในทางเข้าข้างตัวเอง อยากเอาชนะ

สังเกตการลงโทษด้วยการตีของพ่อแม่แต่ละบ้าน
บางบ้านตีลูกแล้วลูกกลายเป็นเด็กก้าวร้าว
ชอบออกไประบายความรุนแรงใส่คนอื่น
นั่นเพราะพ่อแม่ตีพร้อมเสียงโกรธเกรี้ยว
ลูกจึงกลัวเกรงและโกรธเกลียดเก็บกด
แต่บางบ้านตีลูกแล้วลูกดีขึ้น ว่านอนสอนง่ายกว่าเดิม
นั่นเพราะพ่อแม่ตีพร้อมสอนด้วยเหตุผลเยือกเย็น
ลูกจึงยำเกรงและไม่โกรธเกลียด
เพราะเข้าใจอะไรๆดีขึ้น จิตใจอ่อนโยนเป็นกุศลขึ้น

หลายครั้ง ถ้าอยู่ในขณะจิตที่เปี่ยมเมตตา
แค่ลงโทษด้วยรอยยิ้มและแววตาเห็นใจ
คุณก็ทำให้ใครหลายๆคนเข่าอ่อนด้วยใจสำนึก
ไม่อยากทำผิดอีก ทั้งที่ยังไม่ทันพูดสักคำ

เมื่อใจสะอาด ปราศจากความคุมแค้น
คุณจะมองออก อ่านขาดในครั้งต่อๆไปว่า
แค่ไหน เรียกว่าอภัยยังไม่หมด หรืออภัยหมดจดแล้ว
สังเกตจากความมืดและความสกปรก
ถ้ายังโกรธ ยังเกลียด ยังพยาบาทลึกๆ
ก็รู้ว่าใจยังหวงความมืดไว้
หวงความสกปรกไว้
หวงความยุ่งเหยิงซัดส่ายไว้
อาจจะภายใต้ข้ออ้างต่างๆนานาว่าสมควรแล้ว
แต่ถ้าหายโกรธ หายเกลียด หายพยาบาทสนิท
อยู่ดีๆจะไม่นึกถึงบุคคลอันเป็นเป้าหมาย
นั่นเพราะไม่มีการหวงความมืด
ไม่มีการหวงความสกปรก
ไม่มีการหวงความยุ่งเหยิงซัดส่ายไว้อีกแล้ว
แม้จะไม่มีการพูดจากัน ไม่มีการมองหน้ากัน
คุณก็รู้อยู่กับใจว่าไม่มีอะไรตกค้าง
จิตของคุณอภัยหมดจดแล้ว

ดังตฤณ
พฤศจิกายน ๕๗



** ข่าวสารประจำฉบับ **

dungtrin_editor_coverdungtrin_editor_cover

แนะนำคอลัมน์

  • พระพุทธองค์ได้ทรงสั่งสอนแนวทางการปฏิบัติ
    เพื่อถึงความดับทุกข์ทั้งปวงได้
    ดังเนื้อความตามพระธรรมเทศนา "โลก – เหนือโลก"
    ใน สมเด็จพระญาณสังวร 
    สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก
    ติดตามได้ในคอลัมน์ "แสงส่องใจ" (-/\-)

  • ใครที่กำลังมีความคิดจะลาออกจากงานประจำ
    แล้วมาเริ่มทำธุรกิจส่วนตัว
    ลองมาดูกรณีศึกษาของเจ้าของกิจการต่างๆ
    ตลอดจนวิธีสร้างกุศลให้มีความเป็นผู้นำ
    ตามที่คุณหมอพีร์บอกเล่าไว้ในคอลัมน์ "ไดอารี่หมอดู" ค่ะ

  • การปรับสมดุลของกายและใจ
    เพื่อความแข็งแรง มีสุขภาพดี นั้นมีวิธีการอย่างไร
    คุณงดงาม นำมาแบ่งปันไว้ในคอลัมน์ "เพื่อนธรรมจารี"
    ตอน "คุยเรื่องสุขภาพ (๗) – เทคนิค ๙ ข้อ"

dungtrin_editor_coverdungtrin_editor_cover

ข่าวประชาสัมพันธ์

โรงพยาบาลมหาราชนครราชสีมา ได้รับพระมหากรุณาธิคุณจาก
สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี
ทรงรับเป็นประธานการจัดหาทุนสร้าง
"อาคารเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี"
ศูนย์อุบัติเหตุและฉุกเฉิน เพื่อรองรับผู้ป่วยอุบัติเหตุและฉุกเฉินที่มีแนวโน้มสูงขึ้นทุกปี

หลวงพ่อกัณหา สุขกาโม
ได้เมตตารับเป็นประธานการก่อสร้างอาคาร
ประกอบด้วยศูนย์อุบัติเหตุและฉุกเฉิน, ห้องผ่าตัด, ห้องคลอด, หอผู้ป่วยหนักอุบัติเหตุ,
หอผู้ป่วยหนักโรคหัวใจ, หอผู้ป่วยไฟไหม้ น้ำร้อนลวก, 
หอผู้ป่วยในอุบัติเหตุและฉุกเฉิน ชาย-หญิง, ห้องพิเศษ
งบประมาณก่อสร้าง ๕๐๐ ล้านบาท
ระยะเวลาก่อสร้าง วันที่ ๑ ตุลาคม ๒๕๕๗ ถึงวันที่ ๓๑ มีนาคม ๒๕๖๐

ขอเชิญร่วมบริจาคและสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่
๑. วัดป่าทรัพย์ทวีธรรมาราม บ้านบุเจ้าคุณ ต.วังหมี อ.วังน้ำเขียว จ.นครราชสีมา
๒. งานประสานบริการด้านสุขภาพโรงพยาบาลมหาราชนครราชสีมา ๐๔๔-๒๓๕-๑๐๓, ๐๘๕-๔๗๙-๕๑๒๘, ๐๘๕-๔๗๙-๕๑๒๙

หรือร่วมสมทบทุนได้โดยโอนเงินเข้าธนาคาร
ชื่อบัญชี กองทุนหลวงพ่อกัณหา เพื่อสมทบสร้างอาคารสมเด็จพระเทพฯ โรงพยาบาลมหาราชนครราชสีมา

๑. ธนาคารกรุงไทย 

สาขา โรงพยาบาลมหาราชนครราชสีมา 
เลขที่บัญชี ๙๘๒-๖-๐๗๐๒๗-๐

๒. ธนาคารกรุงเทพ 

สาขา นครราชสีมา 
เลขที่บัญชี ๒๘๕-๕-๗๕๒๒๕-๕

๓. ธนาคารไทยพาณิชย์ 

สาขา นครราชสีมา 
เลขที่บัญชี ๕๐๓-๒๙๘๙๒๔-๖


พบกันใหม่พฤหัสหน้า 
ที่ www.dlitemag.com นะคะ
สวัสดีค่ะ (^__^)

--

---
คุณได้รับข้อความนี้เนื่องจากคุณสมัครรับข่าวสารจากกลุ่ม "ธรรมะใกล้ตัว" ของ Google Groups
หากต้องการยกเลิกการสมัครรับข่าวสารและหยุดรับอีเมลจากกลุ่มนี้ โปรดส่งอีเมลไปที่ dharma-at-hand+unsubscribe@googlegroups.com
หากต้องการดูตัวเลือกเพิ่มเติม โปรดไปที่ https://groups.google.com/d/optout

ไม่มีความคิดเห็น: