ฉบับที่ ๑๕๔ ทำไมต้องวิ่งหาพระดี?
มีคนเคยถามผมว่า
ทำไมใครต่อใครต้องวิ่งหาพระดีกันไกลๆ
ทำไมไม่ไหว้พระดีที่บ้าน
พระพุทธเจ้าบอกไม่ใช่เหรอว่า
พ่อแม่เป็นพระอรหันต์ของลูก
ผมแก้ความเข้าใจไปทีละเปลาะ
เอาตามความจริง ไม่ใช่สิ่งที่คิดกันเอาเอง
หนึ่ง พระพุทธเจ้าไม่ได้ตรัสว่าพ่อแม่เป็นพระอรหันต์
ท่านตรัสว่า พ่อแม่ที่ดี
เปรียบเหมือนพระพรหมของลูก เนื้อความเต็มๆคือ
มารดาบิดาผู้อนุเคราะห์บุตร ท่านเรียกว่าพรหม
ท่านเรียกว่าบุรพาจารย์ และท่านเรียกว่าอาหุไนยบุคคล
อันนี้มาจาก อังคุตตรนิกาย ติกกนิบาต ปฐมปัณณาสก เทวทูตวัคควัณณา
ซึ่งถ้าพิจารณาให้ครบถ้วน
ก็จะพบว่า ถึงแม้เป็นพ่อแม่ แต่ถ้าไม่อนุเคราะห์บุตร
ทำร้ายทำลายบุตร ก็ไม่อาจได้ชื่อว่าเป็นพรหมของลูกได้
สอง พ่อแม่ของแต่ละคนไม่เหมือนกัน
บางคนอยู่กับพ่อแม่แล้วมีความสุข สงบใจ
แต่บางคนอยู่กับพ่อแม่แล้วเป็นทุกข์ ว้าวุ่นใจ
สาม ที่พึ่งทางใจเป็นสิ่งจำเป็น
เมื่อยังเป็นที่พึ่งทางใจให้ตัวเองไม่ได้
เราจะหาใครสักคนเป็นที่พึ่ง เป็นความอุ่นใจ
หรือกระทั่งพบเจอแล้ว
นึกอยากแสดงความนอบน้อมอ่อนโยนออกมา
เพื่อทำลายความกระด้างในใจตนเองลง
ซึ่งแต่ไหนแต่ไร
บุคคลที่จะสร้างความเปลี่ยนแปลงทางใจง่ายๆ
ก็ได้แก่นักบวช สมณะ หรือภิกษุในศาสนาของตน
คนส่วนใหญ่มีวันคืนที่จำเจ น่าเบื่อ
หลายคนจมอยู่กับความรู้สึกแย่ๆ ทึบๆ มืดๆ
ฉะนั้น ความรู้สึกดีๆนั่นแหละ
เป็นจุดเริ่มต้นของวันที่แตกต่าง
แค่นึกว่าจะออกไปหาบุคคลที่น่าศรัทธา
ก็เหมือนจุดพลุแห่งความสว่างขึ้นในใจแล้ว
ทำให้วันธรรมดากลายเป็นวันพิเศษขึ้น
เบิกบานขึ้น มีความสุขขึ้นแล้ว
ผมจำช่วงเวลาของตัวเองที่วิ่งหาพระดีได้
ความรู้สึกขาด อยากได้ที่พึ่ง
อยากได้ใครสักคนยกระดับจิตใจตัวเอง
หรืออยากได้ใครสักคนเสกปิ๊งเดียวชีวิตดีขึ้นหมด
แม้วันนี้ผมเปลี่ยนจากเส้นทางวิ่งหาพระดี
เป็นการนำของดีไปถวายพระไม่เลือกหน้า
แต่ผมก็เห็นใจ เข้าใจ
และรู้สึกดีที่ใครๆมีพระในใจตนให้วิ่งไปหา
จนกว่าจะมีอะไรในตนดีๆ
ที่จะสร้าง 'วันดี' หรือ 'วันดีขึ้น' ให้คนอื่นบ้าง
มองภาพรวม
ศาสนาพุทธในบ้านเรามีทั้งส่วนที่กำลังทำลาย
และส่วนที่กำลังสร้าง
ส่วนที่กำลังทำลาย
คือ ศรัทธาในผ้าเหลือง
จากระดับต่ำสุดไปจนถึงระดับสูงสุด
มีเรื่องให้น่าด่าได้หมด ถ้าคิดจะด่า
และการด่าพร้อมๆกัน
ก็คือจุดเริ่มต้นกระบวนการทำลายล้างที่ทรงพลังที่สุด
ส่วนที่กำลังสร้าง
คือ ศรัทธาในพระธรรม
ปัญญาชนจำนวนมากอาศัยโซเชียลมีเดีย
สร้างวัดขึ้นมาในบ้าน
การหาคติธรรมวันละเล็กวันละน้อย
อาจได้บุญไม่แพ้ก่ออิฐก่อปูนสร้างโบสถ์ทีเดียว
โดยเฉพาะเมื่อช่วยให้คนในบ้านจิตใจผ่องแผ้วขึ้น
จากจิตใจที่ผ่องใสของตน
บางคนมีส่วนร่วมในการทำลาย
บางคนมีส่วนร่วมในการสร้าง
บางคนมีส่วนร่วมทั้งในการทำลายและการสร้าง
วันนี้ลองมาตั้งคำถามกับตัวเองกันดูครับ
เราตัดสินใจเลือกกรรมในเส้นทางแบบไหน
ยุคไอทีของพวกเรามีหลักฐานอยู่ให้สำรวจตัวเองได้
ดังตฤณ
เมษายน ๕๘
ความตายนั้นเป็นสิ่งที่เราไม่อาจหลีกหนีได้
ในยามมีชีวิตอยู่จึงควรเร่งขวนขวายประพฤติปฏิบัติธรรม
ดังความในพระธรรมเทศนา โดย หลวงปู่แหวน สุจิณฺโณ
ในคอลัมน์ "สารส่องใจ" ตอน "มรณานุสสติ" (-/\-)
ใครที่ไม่กินเนื้อสัตว์แต่ใช้กระเป๋าที่ทำจากหนังสัตว์
แล้วสงสัยว่าจะถือว่ามีส่วนในบาปด้วยไหม
หาคำตอบได้ใน "ดังตฤณวิสัชนา"
ตอน "ซื้อกระเป๋าหนังวัวมาใช้เป็นบาปหรือไม่"
ในสังสารวัฏนี้มีผู้ที่เป็นทุกข์อยู่มหาศาล
เกินกว่าที่เราจะสามารถช่วยได้ทุกคน
ส่วนจะปฏิบัติอย่างไรจึงจะเหมาะสมนั้น
ลองมาดูที่คุณงดงามเล่าสู่กันฟังไว้
ใน "จุดหมายปลายธรรม" ตอน "ไม่มีทางช่วยได้หมด"
---
คุณได้รับข้อความนี้เนื่องจากคุณสมัครรับข่าวสารจากกลุ่ม "ธรรมะใกล้ตัว" ของ Google Groups
หากต้องการยกเลิกการสมัครรับข่าวสารและหยุดรับอีเมลจากกลุ่มนี้ โปรดส่งอีเมลไปที่ dharma-at-hand+unsubscribe@googlegroups.com
หากต้องการดูตัวเลือกเพิ่มเติม โปรดไปที่ https://groups.google.com/d/optout
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น