วันพฤหัสบดีที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2558

ธรรมะใกล้ตัวฉบับ Lite ฉบับวันที่ ๑๒ พฤศจิกายน ๒๕๕๘


จากใจ บ.ก.ใกล้ตัว Lite Talk

ฉบับที่ ๑๖๙ แข่งกับคนอื่น vs แข่งกับตัวเอง



169 talk


ถ้าอยากแข่งกับคนอื่น
มีคนพร้อมให้คุณแข่งมากมาย
เพื่อจะได้รู้ในที่สุดว่า เก่งแค่ไหน
ก็ต้องรู้จักกับคำว่า 'เหนือฟ้ายังมีฟ้า'


แต่ถ้าอยากแข่งกับตัวเอง
มีเพียงคุณคนเดียวให้แข่งด้วย
เพื่อจะได้รู้ในที่สุดว่า
วันนี้ดีกว่าเมื่อวานแค่ไหน


นับแต่เด็กจนโต
โลกจะบีบให้คุณต้องแข่งกับคนอื่น
ซึ่งคุณก็จำต้องใช้ 'สองมือสองเท้า'
หรือ 'หนึ่งสมองสองมือ' ไปแข่งกับเขา
แล้วได้ผลลัพธ์เปรียบเทียบว่า
ใครเหนือกว่า ใครด้อยกว่า เป็นธรรมดา


คนเราย่อมเป็นทุกข์เมื่อพบว่า
ตนเองด้อยกว่าเขา แพ้เขา
แล้วก็ย่อมเป็นสุขเมื่อพบว่า
ตนเองเหนือกว่าเขา ชนะเขา


แต่ถ้า 'ใจ' ของคุณหันมาตั้งข้อสังเกต
เปรียบเทียบตัวเองวันนี้กับเมื่อวาน
มุมมองและความรู้สึกของคุณจะค่อยๆต่างไป คือ
ความทุกข์จะเกิดเมื่อพบว่าตนเองย่ำอยู่กับที่
รู้เท่าเดิม เก่งขึ้นๆลงๆเหมือนเดิม
ส่วนความสุขจะเกิดได้
ก็ต่อเมื่อพบว่าตนเองรุดหน้าไปเรื่อยๆ
รู้มากขึ้น ฝึกมากขึ้น ทักษะมากขึ้น เก่งมากขึ้น


มุมมองชีวิต คือสิ่งที่กำหนดว่า
สุดท้ายคุณจะเอาอะไรจากชีวิต


คนที่แข่งกับตัวเอง จะรู้จักตัวเองดีขึ้นเรื่อยๆ
แล้วเกิดมุมมองจากจุดที่ตนยืนอยู่
กระจ่างชัดพอจะคิดสร้างสรรค์อะไรใหม่ๆ
กลั่นผลงานอันเป็นเอกลักษณ์
ออกมาจากความเป็นตัวเองโดยไม่ต้องลอกใคร
เพราะอย่างไรไอเดียก็ถูกต่อยอดวันต่อวันอยู่แล้ว
แม้มองคนอื่น ก็มองเพื่อดึงส่วนดีที่สุดของเขา
มาผสานกับส่วนดีที่สุดของตน
จนเกิดรูปแบบใหม่ ไม่ใช่เกิดแต่ของรีไซเคิล
ถึงจุดหนึ่ง ก็รู้สึกเป็นหนึ่งเดียวไร้คู่แข่ง
ดังนั้น คนแข่งกับตัวเองจึงเป็นพวกที่
มีสิทธิ์พบงานอันเป็นที่รักโดยง่าย
กับทั้งมีความพอใจในตนเองสูงสุด


ส่วนคนที่เอาแต่แข่งได้ชิงดีกับคนอื่น
จะรู้จักแต่วิธีเอาชนะ วิธีแก้หน้า วิธีเอาคืน
หรือไม่ก็วิ่งวุ่นสร้างความสำคัญให้ตัวเอง
โดยเอาความเหนือกว่าด้อยกว่าเป็นตัวตั้ง
ถ้าจะคิด ก็คิดแต่อะไรที่คนอื่นพากันคิดๆอยู่
เห็นแต่อะไรที่คนอื่นเห็นกันไปหมดแล้ว
เพราะทุกคนมองออกข้างนอกไปยังจุดเดียวกัน
คือเส้นชัยที่ไร้ตัวตน
ไม่ได้มองเข้าข้างใน
คือความเป็นตัวของตัวเองที่จับต้องได้
ดังนั้น คนที่ชอบแข่งได้ชิงดี
จึงยากจะพบงานอันเป็นที่รัก
และต้องทนทุกข์กับการแพ้ชนะที่น่าเบื่อไม่รู้จบ!



ดังตฤณ
พฤศจิกายน ๕๘




review


วิบัติ ๓ และสัมปทา ๓ ประกอบด้วยอะไรบ้าง
และจะส่งผลอย่างไรต่อผู้ที่ประพฤติปฏิบัติ
ติดตามได้จากคอลัมน์ "ธรรมะจากพระสูตร"
ตอน"อยสูตร ว่าด้วยวิบัติ ๓ และสัมปทา ๓"


ผู้ที่ฝึกเจริญสติแล้วพบว่าตนเองยังโกรธง่ายอยู่
ควรทำอย่างไรกับโทสะที่เกิดขึ้นในชีวิตประจำวัน
หาคำตอบได้ในคอลัมน์ "ดังตฤณวิสัชนา"
ตอน "ทำอย่างไรจึงจะมีสติรู้เท่าทันความโกรธ"


ความมีคุณค่าของสิ่งต่างๆ ตลอดจนชีวิตของคนเรานั้น
ย่อมขึ้นอยู่กับว่าได้นำไปใช้เพื่อประโยชน์ใดบ้าง
ดังเรื่องราวที่คุณงดงามได้เล่าสู่กันฟัง
ไว้ในคอลัมน์ "จุดหมายปลายธรรม" ตอน "มีคุณค่าแค่ไหน" (^__^)

--

---
คุณได้รับข้อความนี้เนื่องจากคุณสมัครรับข่าวสารจากกลุ่ม "ธรรมะใกล้ตัว" ของ Google Groups
หากต้องการยกเลิกการสมัครรับข่าวสารและหยุดรับอีเมลจากกลุ่มนี้ โปรดส่งอีเมลไปที่ dharma-at-hand+unsubscribe@googlegroups.com
หากต้องการดูตัวเลือกเพิ่มเติม โปรดไปที่ https://groups.google.com/d/optout

ไม่มีความคิดเห็น: