จากใจ บ.ก.ใกล้ตัว Lite Talk
ฉบับที่ ๑๗๐ คับแค้นคนใจแคบ ระวังจะใจแคบตาม
สังเกตดูเถอะ
เมื่อคุณย้อนคิดถึงสีหน้า คำพูด
หรือพฤติกรรมดิบๆของใคร
ที่ส่องว่าเป็นคนใจแคบ ไม่รู้แล้วพูด
ไม่ศึกษารายละเอียดแต่ชอบวิจารณ์
ฟังใครด่ามาอย่างไรก็ด่าตามไปอย่างนั้น
หรือเอาความคิดตัวเองเป็นใหญ่
เป็นศูนย์กลางความถูกต้องของจักรวาล
ไม่เห็นหัวใคร ตัวเองดีอยู่คนเดียว
เมื่อนั้น คุณจะรู้สึกจุกเสียดแน่นอก
คิดอะไรดีๆไม่ออก อยากด่าให้เจ็บ
หรืออยากหาทางเล่นงานให้สำนึก
ใบหน้าของเขาหรือเธอ
ปรากฏเด่นชัด ฝังแน่นอยู่ในหัว
ราวกับเป็นมโนภาพของตัวคุณเอง
สำรวจใจตัวเองไม่พบสิ่งใดอื่น
นอกเหนือไปจากความเกลียดชังอันดำมืด
นั่นแหละ! สะท้อนให้เห็นธรรมชาติของจิต
เมื่อใดจดจ่อ ผูกยึด โยงใยกับคนใจแคบ
เมื่อนั้นจิตจะคับแคบตาม
ราวกับเป็นคนคนนั้นเสียเอง!
แค่ฟังคำพูดไม่กี่คำของคนใจแคบ
คุณอาจรู้สึกว่าถูกเสียดแทง ถึงกับฝังใจจำ
ย้อนคิดย้ำนึกได้หลายวัน หลายเดือน
ขอให้เร่งรู้ตัวเถอะว่า เวลานั้น
จิตของคุณรับพิษมาจากจิตที่มีพิษแล้ว!
สังเกตธรรมชาติของใจ
ยิ่งหมกมุ่นคิดโต้ตอบ
อยากหาเหตุผลมาคัดง้าง
อยากสรรคำแสบๆมาตอกหน้าให้สำนึก
อยากสาปแช่งให้จมน้ำในสามวันเจ็ดวัน
ใจคุณจะยิ่งเป็นทุกข์อยู่ในกรงแคบ
แน่นหนาขึ้นทุกที
พระพุทธเจ้าถึงตรัสแนะว่า
อย่าไปคุยกับคนพาล
นั่นเพราะยิ่งคุยกับคนพาลมากขึ้นเท่าไร
ใจคุณยิ่งรับเชื้อพาลมามากขึ้นเท่านั้น
ถ้าจำเป็นต้องโต้ตอบตามหน้าที่
หรือต้องอาศัยอยู่ร่วมกัน
ต้องพูดคุยกันเรื่อยๆเพราะเป็นคนในตระกูล
คุณจำเป็นต้องหาคนใจกว้างไว้ยึดเหนี่ยว
ชนิดที่นึกถึงเมื่อไร สบายใจเมื่อนั้น
คนที่คุณคิดถึงคำพูดคำจาแล้ว
รู้สึกดี รู้สึกอบอุ่น รู้สึกว่าใจกว้างขึ้นทันที
คนแบบนั้นแหละ
เหมาะจะเป็นต้นแบบทางใจของคุณ
หากมองรอบตัว ไม่รู้สึก
ไม่สัมผัสกับใครแบบนั้นเลย
ก็ลองมองดูพระพุทธรูป
อันเป็นสัญลักษณ์ของความใจกว้างสูงสุด
ความมีน้ำจิตเมตตาปรานีไพศาล
ความไม่มีใจเพ่งโทษใครอย่างไร้เหตุผล
คุณจะรู้สึกว่าความปรุงแต่งทางใจดีขึ้น
กว้างขวางกว่าเดิม เมตตากว่าเดิม
สบายอกสบายใจกว่าเดิม
เพียงเพราะได้มองสัญลักษณ์
แห่งจิตใจอันงดงาม มีความเป็นพุทธะ
นั่นเป็นเหตุผลว่าทำไม
พระพุทธเจ้าจึงแนะให้หมั่นระลึกถึง
ความประพฤติปฏิบัติของพระองค์
(พุทธานุสติ)
คำพูดคำจาของพระสงฆ์ผู้ปฏิบัติดี
(สังฆานุสติ)
ตลอดจนคุณธรรมของผู้ควรเป็นเทวดา
(เทวตานุสติ)
ทั้งหมดทั้งปวงก็เพราะ
จดจ่อกับใจแบบไหน
ใจคุณจะเป็นแบบนั้น!
ดังตฤณ
พฤศจิกายน ๕๘
วิชชา ๓ ของพุทธและพราหมณ์ประกอบด้วยสิ่งใดบ้าง
มีความแตกต่างหรือคล้ายคลึงกันอย่างไร
ติดตามได้จากคอลัมน์ "ธรรมะจากพระสูตร"
ตอน"ติกัณณสูตร ว่าด้วยวิชชา ๓ ของพราหมณ์และของพุทธ"
ใครที่มีเหตุให้ต้องคบหากับผู้ที่ชอบพูดจาโอ้อวดตน
ลองมาดูวิธีจัดการกับจิตใจของตนเอง
ได้ในคอลัมน์"ดังตฤณวิสัชนา"
ตอน"เมื่อต้องพบเจอกับผู้ที่มีความหลงตัวมากๆ ควรรับมืออย่างไร"
หากต้องการให้พระพุทธศาสนามั่นคงแล้ว
ชาวพุทธทั้งปวงพึงปฏิบัติตนเช่นใด
เรื่องนี้คุณงดงามบอกเล่าไว้ในคอลัมน์"จุดหมายปลายธรรม"
ตอน"พุทธศาสนากับรัฐธรรมนูญ (ตอนที่ ๒)"ค่ะ
---
คุณได้รับข้อความนี้เนื่องจากคุณสมัครรับข่าวสารจากกลุ่ม "ธรรมะใกล้ตัว" ของ Google Groups
หากต้องการยกเลิกการสมัครรับข่าวสารและหยุดรับอีเมลจากกลุ่มนี้ โปรดส่งอีเมลไปที่ dharma-at-hand+unsubscribe@googlegroups.com
หากต้องการดูตัวเลือกเพิ่มเติม โปรดไปที่ https://groups.google.com/d/optout
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น