หลักคิดเพื่องานใหม่หรือลาออก
วิกูล โพธิ์นาง
www.oknation.net/blog/wikulponang
๒ กรกฎาคม ๒๕๕๐
เมื่อเรียนจบ ก็ถึงเวลาที่ต้องแสวงหางาน ณ เวลานี้ก็คงไม่มีท่านใดมาคิดว่าการจะสมัครเข้าทำงานที่ใหนสักแห่ง จะนำความถูกต้องมาพิจารณาควบคู่ไปกับความถูกใจได้อย่างสมบูรณ์ ส่วนมากก็จะถือความถูกใจขึ้นมาเป็นปฐมพิจารณา
ครั้นเมื่อได้ทำงาน ไปสักพักหนึ่ง ก็ถึงคราวที่จะต้องพิจารณาอีกครั้งว่าจะอยู่ต่อหรือจะลาออก มาบัดนี้แล้วส่วนใหญ่ก็จะนำเอาความถูกต้องมาเป็นปฐมพิจารณามากกว่าความถูกใจ
ทั้งจะสมัครเข้าทำงานหรือจะคิดจะลาออกจากงานก็คือการหาที่จะอยู่เพื่อเลี้ยงชีพ เพื่อความเจริญงอกงามในหน้าที่การงาน ในชีวิตต่อไปนานๆ
จะสมัครเข้าทำงาน ก็คิดแล้วว่าที่ที่เราจะไปอยู่เป็นอย่างไรบ้างหนอ จะเป็นอย่างที่คิดฝันไว้หรือไม่ งานจะถูกใจไหม เพื่อนร่วมงานจะเป็นอย่างไรปริวิตกไปต่างๆนา
คิดลาออก จากงานก็ลังเลจะไปดีหรือเปล่า เราไม่ดีสำหรับที่นี่หรือที่นี่ไม่ดีสำหรับเรา กุศลจิตและอกุศลจิตต่างแย่งการนำเสนอให้เราได้พิจารณาแบบถี่ยีบ
ที่ที่เราอยู่ ที่ที่เราจะไป แห่งใดเป็นสถานที่เหมาะสมสำหรับชีวิตเรา หากมีวิธีหลักคิดที่จะใช้เป็นเครื่องมือพิจารณาแล้วจะทำให้ไม่เสียเวลาแห่งชีวิตอันสั้นนี้
ต่อไปนี้คือเครื่องมือที่ใช้เป็นหลักพิจารณา สำหรับสถานการณ์ดังกล่าวข้างต้นได้เป็นอย่างดี เราจะไปอยู่ในที่ใดๆ สังคมนั้นๆ ต้องประกอบไปด้วยลักษณะดังต่อไปนี้ซึ่ง ทางพุทธศาสนาเรียกว่าจักร ๔ คือธรรมอันนำไปสู่ความเจริญรุ่งเรือง เป็นคุณลักษณะที่จะทำให้เราสามารถทำความดีอื่นๆปรากฏผลได้ง่าย ประกอบไปด้วย
๑. ปฏิรูปเทสวาสะ (อยู่ในถิ่นที่ดี สิ่งแวดล้อมเหมาะสม )
ในสถานที่นั้นมีสิ่งอำนวยความสะดวกทั้งอุปโภค บริโภค การสื่อสารสัญจรไปมาไม่ลำบาก ปัจจัยพื้นฐานของการดำรงชีวิตมีอย่างสมบูรณ์ไม่แห้งแล้งขัดสน สภาวะแวดล้อมเหมาะแก่กิจการงานที่เราทำ
๒. สัปปุริสูปัสสยะ (สมาคมกับสัตบุรุษ)
ในสถานที่นั้นมีผู้ที่เป็นปัญญาชนอยู่ในศีลในธรรม หรือหากเป็นผู้บริหารก็เป็นผู้นำที่มีความเป็นมืออาชีพมีหลักวิชาการและการปฏิบัติที่มีศักายภาพแห่งผู้นำเสมอๆ มองต่ำลงมาก็เพื่อร่วมงานในที่นั้นมีคุณธรรมอย่างน้อยก็ศีล ๕ แต่ครั้นจะไปนั่งนับว่าใครมีศีลบ้างคงยากสักหน่อยก็พิจารณาจากว่าในที่แห่งนั้นมีธรรมพื้นฐานสำหรับฆารวาสอยู่หรือไม่ธรรมนั้นก็คือธรรม สำหรับประชาชน ๔ ประการ คือ
๒.๑ ความจริง มีความซื่อสัตย์ พูดจริง ทำจริง จริงใจ
๒.๒ ฝึกฝน มีการฝึกฝนยอมรับความเป็นจริงพร้อมจะเปลี่ยนนิสัยที่ไม่ดี
๒.๓ อดทน มีความอดทนไม่ก้าวก่ายงานผู้อื่นขยันทำงานของตนเอง
๒.๔ เสียสละ มีความเสียสละไม่เห็นแก่ตนมากเกินไป
การพิจารณาในประเด็นนี้คงต้องใช้ความพยายามอย่างมากจะใช้หลักพิจารณาตามนี้ก็ได้ “ดูวัดให้ดูที่ถาน ดูสมภารให้ดูที่จั่ว” วัดใดมีการบริหารจัดการดีทายกทายิกาสามัคคีสวมของวัดนั้นก็สะอาดเอี่ยมดี เจ้าอาวาสจะดีหรือไม่ดีก็ให้ดูที่ “จั่ว” หรือสามเณร ถ้าสามเณรเป็นอย่างไรสมภารหรือเจ้าอาวาสก็ไม่ต่างกัน ลองไปประยุกต์ดูตามสมควรแก่กาลเทศะ ลองไปติดต่อกับองค์กรนั้น ดูตั้งแต่ รปภ. พนักงานทั่วไป พนักงานต้อนรับ ฝ่ายบุคคล ขอเข้าห้องสุขาของเขาดูบ้างแล้วนำมาพิจารณา หลักการนี้มั่นใจได้ได้ผล
๓. อัตตสัมมาปณิธิ (ตั้งตนไว้ชอบ)
ในสถานที่นั้นทั้งสภาพแวดล้อมทางวัตถุและจิตใจจะสามารถทำให้เราเป็นคนดี รักษาความเป็นคนดีได้หรือไม่ ไม่มีการประพฤติผิดศีลธรรมของการครองเรือน ไม่ฉ่อราฏร์บังหลวงหรือการทำผิดกฏหมายกฏธรรม เพราะจะทำให้เราติดเชื้อร้ายไปด้วย
๔. ปุพเพกตปุญญตา (เป็นผู้สะสมความดี)
ในสถานที่นั้นสามารถเป็นที่ให้เราได้สั่งสมความดีความสามารถ เปิดโอกาสให้เราได้แสดงได้อย่างไม่สิ้นสุด มีโอกาสก้าวหน้ามีแผนพัฒนาชีวิตพัฒนางานให้กับทุกคนในองค์การ หากมีคุณสมบัติข้อนี้จะทำให้ไม่เกิดความสูญเปล่าแห่งการใช้ชีวิตทำงาน (MUDA แห่งการรอคอย)
พิจารณาแล้วว่าที่ๆเราจะไปมีคุณลักษณะทั้ง ๔ ประการน้อยกว่าที่เราอยู่ ไม่ต้องเสียเวลาคิดอีกแล้ว จงทำงานของเราวันนี้ให้ดีทำตนให้มีคุณค่า ดึงศักกายภาพที่แฝงไว้ออกมา เชื่อมั่นตนเองเชื่อมั่นองค์กร
เมื่อค้นหาสถานที่ในฝันได้ “ก็จงไปที่ชอบที่ชอบ” นั้นอย่าเสียเวลา
แม้นหาไม่ได้เลยทั้งที่อยู่ปัจจุบันหรือที่ไหนๆ ก็สร้างที่ตัวเรานี่แหละ “ดีที่สุดง่ายกว่าด้วย”
////////////////////
Hotmail: อีเมลที่เชื่อถือได้ซึ่งมาพร้อมกับการป้องกันอีเมลขยะที่มีประสิทธิภาพของ Microsoft ลงทะเบียนเดี๋ยวนี้
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น