จากใจ บ.ก. ใกล้ตัว - ฉบับที่ ๑๖๒
อิสระเกินไปคือฟุ้งซ่าน
อิสรภาพที่จะทำตามอำเภอใจ
เป็นสัญลักษณ์ของความฟุ้งซ่าน
ความเป็นตัวของตัวเองที่จะคุมใจให้อยู่ในร่องในรอย
เป็นสัญลักษณ์ของสมาธิ
เมื่อพูดถึงความพอใจ
เกือบทุกคนจะอยากทำอะไรได้ตามใจชอบเป็นหลัก
และเมื่อพูดถึงความอึดอัด
เกือบทุกคนจะนึกถึงวินัยและเรื่องดีที่ต้องฝืนใจทำ
แต่เมื่อพูดถึงสภาพทางใจ
การทำอะไรตามใจไปเรื่อยๆ
ก็คือการปล่อยจิตให้ซัดส่ายไม่หยุด
สะสมมากเท่าไหร่ก็ฟุ้งซ่านรำคาญใจมากขึ้นเท่านั้น
ขณะที่การห้ามใจจากเรื่องไม่ถูกไม่ควร
ตั้งตนมั่นคงอยู่ในกรอบที่ชัดเจน
ที่เล็งไว้แล้วว่าดี ว่าถูกต้อง
โดยไม่ปล่อยใจให้หลุดออกนอกลู่นอกทาง
ก็คือการดัดจิตดัดใจให้ค่อยๆตรง
ค่อยๆหนักแน่นขึ้น และแข็งแรงขึ้นกระทั่งคงเส้นคงวา
ความคงเส้นคงวาในวินัยที่ไม่อึดอัดเกินไปนั่นเอง
ก่อให้เกิดพลังสมาธิ
สะสมมากเท่าไหร่ก็ยิ่งสงบนิ่งเป็นสุขอยู่กับตัวเองมากขึ้นเท่านั้น
หากคุณเป็นหนึ่งในคนที่ชอบบ่นว่ารำคาญความฟุ้งซ่าน
ตั้งสมาธิยาก ก็ขอให้สำรวจว่าให้อิสรภาพตนเองมากไปหรือเปล่า
ชีวิตมีวินัยให้ใส่ใจอยู่ในร่องในรอยถูกต้องแค่ไหน
เพราะเหล่านั้นแหละครับพื้นฐานสำคัญ
ที่จะตัดสินว่าคุณจะฟุ้งซ่านเก่งหรือทำสมาธิเก่ง
ดังตฤณ
ธันวาคม ๕๕
เรื่องน่าสนใจประจำฉบับ
หลายคนอาจเคยสงสัยว่า ‘อริยสงฆ์’ เมื่อท่านดับขันธ์แล้วจะไปเกิดใหม่อย่างไร
คอลัมน์ “ดังตฤณวิสัชนา” ฉบับนี้มีคำตอบรออยู่ค่ะ
แม้ชีวิตต้องเผชิญกับปัญหานานัปการ
แต่ใจที่สว่างก็นำพาชีวิตให้สว่างได้อย่างไม่น่าเชื่อ
ดังตัวอย่างที่หมอพีร์นำมาแบ่งปันในคอลัมน์ “ไดอารี่หมอดู” ฉบับนี้
ถ้าต้องเกิดเป็นวัว คุณงดงามบอกเราว่าอยากเกิดเป็นวัวตัวเล็กมากกว่าวัวตัวใหญ๋
ใครอยากทราบเหตุผลต้องไม่พลาดคอลัมน์ “เพื่อนธรรมจารี” นะคะ
ฉบับนี้ตอน “วัวตัวใหญ่กับวัวตัวเล็ก”
พบกันใหม่พฤหัสหน้า
ที่ www.dlitemag.com นะคะ
สวัสดีค่ะ (^__^)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น