ฉบับที่ ๑๓๕ ขอบคุณไม่เป็น จะแผ่เมตตาไม่ออก
การแผ่เมตตามักเป็นเรื่องเข้าใจยากสำหรับคนส่วนใหญ่
ไม่รู้ว่าต้องทำกันอย่างไร
แค่ไหนถึงเรียกว่าแผ่เมตตาแล้ว
นั่นอาจเป็นเพราะระหว่างวันอันสามัญธรรมดา
คนทั่วไปไม่ค่อยมีต้นทุนความสุขอันพิเศษเกิดขึ้น
ไม่มีการสะสมความสุขเล็กๆน้อยๆ
ให้เอ่อขึ้นเป็นความสุขอย่างใหญ่กัน
เมื่อไม่มีความสุขอย่างเหลือเฟือ
ก็ไม่ทราบจะเอาอะไรมาเผื่อแผ่
คล้ายคนมีเงินน้อย จะหล่อเลี้ยงชีวิตตัวยังไม่ค่อยมี
ที่ไหนจะมีแก่ใจอยากแจกจ่ายเจือจาน
ต่อเมื่อมีเงินมากขึ้นแล้ว สบายตัวสบายใจแล้ว
จึงค่อยมีแก่ใจใคร่เผื่อแผ่ใครต่อใครได้
ความสุขที่พิเศษและแตกต่างไป
เกิดขึ้นได้ง่ายดายกว่าที่คิด
ดังเช่นสภาพทางจิตในชีวิตประจำวัน
ที่ใกล้เคียงกับความรู้สึกแผ่เมตตา
เกิดขึ้นตอนนึกอยากขอบคุณ
ด้วยความรู้สึกเห็นค่า เห็นประโยชน์
เห็นความหมายของการที่คนอื่น
หยิบยื่นความช่วยเหลือเล็กๆน้อยๆมาให้
ขอให้สังเกตใจตัวเอง
เมื่อผู้น้อย ผู้ที่อยู่ในบังคับบัญชา
หรือผู้ที่มีหน้าที่ให้บริการทั่วไป
มาช่วยเสิร์ฟน้ำ หยิบยกของให้
หรือแค่ใครบอกทางซ้ายขวา
ถ้าคุณเฉยนิ่งเป็นหุ่นปั้นในมาดเจ้านาย
ใจจะได้ 'ความรู้สึกแห้งแล้งเข้าตัว'
จิตแบบนั้นแหละที่แผ่เมตตาไม่ออก
นั่นเพราะไม่มีน้ำใจทำความชุ่มชื่นให้ใครบ้างเลย
แม้ผู้น้อยจะกลัวหัวหด คร้ามเกรงบารมีเพียงใด
ที่ได้มาก็แค่การหลงทะนงในความยิ่งใหญ่อันน่าอึดอัด
หาใช่ความสุขเย็นอันเกิดจากไมตรีที่ปลอดโปร่งไม่
แต่หากผู้น้อยทำอะไรเล็กๆน้อยๆให้
คุณเห็นค่า เห็นเป็นความสะดวกสบายที่เขาหยิบยื่นมา
แล้วเปล่งเสียงตอบเต็มปากเต็มคำไม่อ้อมแอ้มว่า
ขอบคุณนะ ขอบใจมาก
ใจจะเกิดอาการ 'ส่งความสุขออกไป'
รู้สึกได้ถึงน้ำใจในตนที่เกิดขึ้นนิดหนึ่ง
ทำความชุ่มชื่นให้ทั้งเขาทั้งเราได้เล็กๆ
ซึ่งนั่นเองคือจุดเริ่มต้นของการแผ่เมตตา
เพียงฝึกขอบคุณ 'ด้วยใจ' จนกระทั่ง 'ติดปาก'
คุณจะรู้สึกถึงน้ำใจที่เอ่อขึ้นทีละน้อย
กระทั่งกลายเป็นสุขเป็นปกติ กับการเห็นค่าของคนอื่น
และนั่นก็เหนี่ยวนำให้เกิดความมีแก่ใจ
อยากเผื่อแผ่ความสุขให้กับใครๆก่อน
โดยที่พวกเขายังไม่ทันต้องทำอะไรให้เลยด้วยซ้ำ
เมื่อรู้สึกถึงความสุขชนิด 'หยิบยื่นให้' ที่บังเกิดขึ้นในใจตน
พอคราวหน้าสวดมนต์ไหว้พระและ 'คิดแผ่เมตตา'
คุณจะรู้สึกถึงต้นทุนที่มีจริง
และ 'นึกออก' ว่าการส่งความสุข เผื่อแผ่ความเมตตา
อาการเป็นอย่างไร ต้อง 'เปิดจิต' กันแบบไหน
ไม่เช่นนั้นแล้ว จะสวดสัพเพ สัตตา อเวรา โหนตุ กี่พันรอบ
ต่อให้กี่สิบปีผ่านไป ก็จะรู้สึกเหมือนแกล้งสวดหลอกๆ
จิตใจแห้งแล้ง หน้าตาเหี้ยมเกรียมเหมือนเดิมอยู่นั่นเอง
ขอบคุณไม่เป็นจะแผ่เมตตาไม่ออก
แต่เต็มใจขอบคุณให้ถูกจังหวะ
คือบันไดขั้นแรกของการเปิดจิตแผ่เมตตาจริง
ดังตฤณ
กรกฎาคม ๕๗
http://www.twitter.com/Dungtrin
http://www.facebook.com/Dungtrin
- ใครที่ชอบทำทานด้วยการให้อาหารสัตว์
ทั้งสัตว์ที่เลี้ยงไว้เองและที่อยู่ตามธรรมชาติ
แล้วสงสัยว่าได้ผลบุญแตกต่างกันอย่างไร
"ดังตฤณวิสัชนา" มีคำตอบให้
ในตอน "การให้อาหารสัตว์แต่ละแบบมีอานิสงส์ต่างกันหรือไม่"
- ส่วน "จุดหมายปลายธรรม" ฉบับนี้
คุณงดงามชวนคิดในเรื่องการเสนอให้เพิ่มโทษในความผิดฐานข่มขืน
ตลอดจนวิธีป้องกันไม่ให้เกิดเหตุร้ายซ้ำอีก
ในตอน "ดาบสองคม" ค่ะ
- ใครที่เป็นทุกข์เพราะเป็นฝ่ายถูกกระทำ
แล้วรู้สึกว่าคนไม่ดีไม่เห็นจะได้รับผลบาปสักที
ลองอ่านกรณีศึกษาได้ใน "โหรา (ไม่) คาใจ"
ตอน "ยุติธรรมแบบอำมหิต"
---
คุณได้รับข้อความนี้เนื่องจากคุณสมัครรับข่าวสารจากกลุ่ม "ธรรมะใกล้ตัว" ของ Google Groups
หากต้องการยกเลิกการสมัครรับข่าวสารและหยุดรับอีเมลจากกลุ่มนี้ โปรดส่งอีเมลไปที่ dharma-at-hand+unsubscribe@googlegroups.com
หากต้องการดูตัวเลือกเพิ่มเติม โปรดไปที่ https://groups.google.com/d/optout
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น