วันอาทิตย์ที่ 5 กรกฎาคม พ.ศ. 2558

นิตยสารธรรมะใกล้ตัวฉบับที่ ๒๒๗ ประจำวันที่ ๒ กรกฏาคม ๒๕๕๘



จากใจ บก.ใกล้ตัว - ฉบับที่ ๒๒๗


จิตมั่ว ชีวิตจะมั่ว

 เมื่อใดชีวิตคุณดูมั่วๆ
เรียงลำดับอะไรก่อนอะไรหลังไม่ถูก
หรือไม่ทราบว่าเหลืออะไรต้องทำอีกบ้าง
กระทั่งท้อใจ ไม่นึกอยากทำอะไรสักอย่าง
เมื่อนั้นให้บอกตัวเองว่า
จิตใจของคุณกำลังฟุ้งซ่านมั่วซั่ว
วิธีคิดของคุณขาดระเบียบ ไม่เป็นลำดับ
เพราะตัวคุณขาดเป้าหมายที่ชัดเจนในใจ
หากพลิกเป็นตรงข้ามได้ก็กระตือรือร้นได้
ขยันลุกขึ้นมาทำอะไรให้เสร็จเป็นอย่างๆได้

 

ทุกอย่างเริ่มต้นที่สภาพจิตใจ
ถ้าสภาพจิตใจดี มีความปลอดโปร่ง
ก็พร้อมจะคิดตามลำดับเป็นเหตุเป็นผล
เมื่อคิดเป็นเหตุเป็นผลถูก ก็มีเป้าหมายชัดเจนได้
เมื่อมีเป้าหมายให้พุ่งใส่ได้ ก็กระฉับกระเฉงได้

 ปัญหาคือคุณมักเจอเครื่องรบกวนจิตใจ
เจ้านายแย่ ลูกน้องแย่ เพื่อนร่วมงานแย่
ทำงานขาดระบบ ใช้อารมณ์ ไม่สมเหตุสมผล
ตั้งเป้าหมายแบบมองไม่เห็นอนาคตชัดเจน
เหมือนพากันไปไม่ถึงไหนสักที
คุณเลยพลอยร่างพลอยแห
ไปไม่ถึงไหนกับเขาด้วย

ก่อนคิดถอยเท้าออกมา
คุณจำเป็นต้องเรียนรู้วิธีทำสภาพจิตให้ดี
ท่ามกลางสภาพแวดล้อมแย่ๆให้ได้
เพราะถ้าทำไม่ได้
แนวโน้มคือคุณจะถูกดึงดูดไปสู่บรรยากาศเดิมๆอีก
เนื่องจาก 
'จิตมั่วๆ' เป็นของติดตัว
มันจะไหลไปสู่ความเข้ากันได้กับจิตมั่วๆด้วยกัน
หรือต่อให้ได้ไปเจอจิตที่เป็นระเบียบกว่า
ก็อาจจูนกันไม่ติด อยู่ด้วยกันแล้วเป็นทุกข์
หรือไม่ก็พาเขามั่วตามได้ง่ายๆ

ถ้าตั้งเป้าหมายที่ภายนอกไม่ได้
ให้ตั้งเป้าหมายเอากับภายใน
มุ่งมั่นเอาอนาคตทางใจที่สดใส เป็นระบบระเบียบ
เมื่อใดท้อ เมื่อใดรู้สึกมั่วซั่วยุ่งเหยิง
ให้ตั้งโจทย์ง่ายๆว่า จะนึกถึงอะไรดี
อะไรที่ทำให้ใจจดใจจ่อแล้วเป็นสมาธิขึ้นมา

ถ้าความเคยชินบอกว่าให้นึกถึงเรื่องเล่น
นึกถึงขาเมาท์ นึกถึงการโพสรูปแจ่มๆอวดชาวโลก
ให้รีบบอกตัวเองว่านั่นไม่ใช่อะไรที่ดี
นั่นไม่ใช่อะไรที่ทำให้เกิดสมาธิ
ตรงข้าม ยิ่งจดจ่อมากขึ้นเท่าไร
ยิ่งกระวนกระวาย ฟุ้งกระเจิงหนักขึ้นเท่านั้น

บอกตัวเองว่า ที่จิตมั่ว จิตที่รู้สึกแย่
เพราะจิตเขาหิวเป้าหมาย
หิวความคิดที่เป็นระบบระเบียบ
หิวสภาพชีวิตที่เป็นชิ้นเป็นอัน
คุณจะค่อยมีแก่ใจป้อนอาหารให้จิตอิ่ม จิตเต็ม
โดยเริ่มจากการไม่มองงานตรงหน้าเป็นภาระ
ไม่มองเป็นเครื่องวัดว่าใครได้เปรียบเสียเปรียบ
แต่เห็นมันเป็นเครื่องช่วยปรุงแต่งจิตให้มีทิศ
ไม่หลงทาง ไม่หลักลอย

ในที่สุดทุกคนจะต้องพบว่า
งานคือเครื่องตรึงจิตให้เป็นสมาธิ
ใครอยากหนีงาน ใครอยากเกี่ยงภาระ
ก็ต้องเกิดอาการจิตหิว จิตมั่วซั่วไม่เลิก

ดังตฤณ
กรกฎาคม ๕๘

** ข่าวสารประจำฉบับ **

dungtrin_editor_coverdungtrin_editor_cover

แนะนำคอลัมน์

เมตตากรุณาที่ถูกต้องนั้นเป็นอย่างไร

ผู้มีพรหมวิหารธรรมที่แท้จริงนั้นมีคุณลักษณะเช่นใด

ติดตามได้จากพระธรรมเทศนา ใน สมเด็จพระญาณสังวร

สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก

ในคอลัมน์ "แสงส่องใจ" (-/\-)

 

หากจิตใจไม่สงบเพราะมีความทุกข์ 
โดยเฉพาะในขณะกำลังนั่งสมาธิ ควรจะปฏิบัติอย่างไร
หาคำตอบได้จากคอลัมน์ "ดังตฤณวิสัชนา"

ตอน "เมื่อเป็นทุกข์มาก ควรฝืนทนนั่งสมาธิทั้งที่จิตใจไม่สงบหรือไม่"

 

การเลือกรักษาศีลห้าอย่างมั่นคง

ไม่ยอมทำผิดศีลธรรมแม้จะมีเหตุบีบคั้นใดๆ ก็ตาม

ย่อมเป็นแนวทางในการใช้ชีวิตที่ถูกต้อง

ดังเรื่องราวที่คุณหมอพีร์บอกเล่าไว้ในคอลัมน์ "ไดอารี่หมอดู" (^__^)



พบกันใหม่พฤหัสหน้า 
ที่ www.dlitemag.com นะคะ
สวัสดีค่ะ (^__^)

--

---
คุณได้รับข้อความนี้เนื่องจากคุณสมัครรับข่าวสารจากกลุ่ม "ธรรมะใกล้ตัว" ของ Google Groups
หากต้องการยกเลิกการสมัครรับข่าวสารและหยุดรับอีเมลจากกลุ่มนี้ โปรดส่งอีเมลไปที่ dharma-at-hand+unsubscribe@googlegroups.com
หากต้องการดูตัวเลือกเพิ่มเติม โปรดไปที่ https://groups.google.com/d/optout

ไม่มีความคิดเห็น: