จากใจ บ.ก. ใกล้ตัว - ฉบับที่ ๑๙๘
ชีวิตมีความสุขแค่ไหน?
แค่หายใจเข้าออก
ใครๆก็ทำได้
แต่ได้หายใจเข้าออกด้วยความรู้สึกดีๆ
คงไม่มีสักกี่คน
ถ้าให้ถามตัวเองว่า 'เรามีความสุขในชีวิตแค่ไหน?'
แต่ละคนคงใช้เครื่องวัดไปต่างๆนานา
บางคน 'ครุ่นคิด' ถึงบุคคลและข้าวของที่มีอยู่
บางคน 'ใคร่ครวญ' ถึงปริมาณภาระและกิจกรรมบันเทิง
บางคน 'คำนวณ' เกี่ยวกับทรัพย์สมบัติและหนี้สิน
บางคน 'ทบทวน' เกี่ยวกับวิธีคิดและอารมณ์เครียด
น้อยคนจะ 'สำรวจดู' เดี๋ยวนี้เลยว่า
กำลังหายใจเข้าออกด้วยความโล่งอกหรืออึดอัด
ลมหายใจแห่งความโล่งอกที่เกิดขึ้นบ่อยๆ
จะตอบคุณเองว่า ชีวิตคุณเป็นสุขโดยมาก
ส่วนลมหายใจแห่งความอึดอัดที่เกิดขึ้นเป็นส่วนใหญ่
จะฟ้องตัวเองว่า ชีวิตคุณเป็นทุกข์โดยรวม
รายละเอียดปลีกย่อยอื่นๆในชีวิต
เป็นเพียงเปลือกห่อหุ้ม หรือ 'เหยื่อล่อ'
ให้ได้หายใจอย่างเป็นทุกข์หรือเป็นสุขเท่านั้น
ลมหายใจแบบพุทธ
คือลมหายใจที่เข้าออกตามธรรมชาติปกติ
เพิ่มเติมแค่มีสติรู้ว่า กำลังเข้าออกอย่างเป็นทุกข์หรือเป็นสุข
ใครก็ตามที่เจริญสติรู้เห็นความจริงในชีวิตนี้อยู่
ได้ชื่อว่ากำลังอยู่กับแก่นสารแห่งการมีชีวิตโดยแท้
ใครก็ตามยอมรับตามจริงที่แก่นสารของชีวิตได้ว่า
สุขทุกข์ไม่เที่ยง สุขทุกข์ไม่เท่าเดิม ไม่ใช่สมบัติของใคร
ได้ชื่อว่ากำลังอยู่กับแก่นสารความเป็นพุทธ
เป็นพุทธ คือผู้รู้ ผู้ตื่นขึ้นเห็นความจริงว่า
ไม่มีใครบังเอิญสุข ไม่มีใครบังเอิญทุกข์
จะเป็นสุขโดยมาก ก็เพราะใช้ชีวิตด้วยกุศลจิตโดยมาก
จะเป็นทุกข์โดยรวม ก็เพราะใช้ชีวิตด้วยอกุศลจิตโดยรวม
ไม่ได้มีตัวตนแห่งความสุขหรือความทุกข์ที่แน่นอนอยู่ก่อน
และไม่ได้มีหลักประกันความสุขหรือความทุกข์ที่ถาวรสืบไป
เมื่อถอนความหลงยึดว่า นี่ทุกข์ของเรา นี่สุขของเราเสียได้
ย่อมเป็นผู้พ้น เป็นผู้เบา เป็นผู้มีอิสระ
เป็นผู้มีลมหายใจแห่งความสุขอันเป็นรสเหนือรสทั้งปวง
ดังตฤณ
พฤษภาคม ๕๗
** ข่าวสารประจำฉบับ **
แนะนำคอลัมน์
-
การปฏิบัติมรรคมีองค์ ๘ ซึ่งย่นลงมาคือ ศีล สมาธิ ปัญญา
มีรายละเอียดและวิธีการอย่างไร
ศึกษาได้จากพระธรรมเทศนา ใน สมเด็จพระญาณสังวร
สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก
อัญเชิญมานำเสนอในคอลัมน์ "แสงส่องใจ" ค่ะ (-/\-) ปุถุชนทุกคนย่อมรักสุขและเกลียดทุกข์
แต่สิ่งใดเล่าที่จะทำให้ความทุกข์นั้นห่างไกลจากจิตใจ
และความสุขเพิ่มพูนขึ้นเรื่อยๆ
เรื่องนี้ คุณ aston27 บอกเล่าไว้ในคอลัมน์ "ธนาคารความสุข"
ตอน "ระยะห่างระหว่างสุขกับทุกข์"-
ส่วนคอลัมน์ "เพื่อนธรรมจารี" ฉบับนี้
คุณงดงามมีแง่คิดมาฝากสำหรับใครก็ตาม
ที่รู้สึกว่าคนรอบข้างบางคนไม่เข้าใจเรื่องง่ายๆ บางเรื่อง
แม้พยายามอธิบายแต่ก็ดูเหมือนไม่ได้ผล
ในตอน "ทำไมเขาจึงไม่เข้าใจ"
อ่านธรรมะใกล้ตัวได้ที่
สมัครรับนิตยสารธรรมะใกล้ตัวทั้งสองฉบับได้ที่
ยกเลิกสมาชิกนิตยสารธรรมะใกล้ตัวทั้งสองฉบับได้ที่
---
คุณได้รับข้อความนี้เนื่องจากคุณสมัครรับข่าวสารจากกลุ่ม "ธรรมะใกล้ตัว" ของ Google Groups
หากต้องการยกเลิกการสมัครรับข่าวสารและหยุดรับอีเมลจากกลุ่มนี้ โปรดส่งอีเมลไปที่ dharma-at-hand+unsubscribe@googlegroups.com
หากต้องการดูตัวเลือกเพิ่มเติม โปรดไปที่ https://groups.google.com/d/optout
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น