วันอาทิตย์ที่ 14 มีนาคม พ.ศ. 2553

[SIAMHRM.COM :24520] ปรัชญาแผ่นดิน - ๕. ปรัชญาชีวิต

สีทั้ง ๕ ทำให้ตาลายเลือนพร่า เสียงทั้ง ๕ ทำให้หนวก รสทั้ง ๕ ทำให้ (ความรู้สึกของ) ลิ้นเลอะเลือน ล่าสัตว์ด้วยอารมณ์ฟุ้งซ่าน ทำให้คุมสติไม่อยู่ ทรัพย์สินที่หายาก ทำให้ประพฤติผิด

            ฉะนั้น อริยบุคคลจึงทำเพื่อท้องอิ่ม (เท่านั้น) ไม่ทำเพื่อให้ตาอิ่ม ดังนั้น จึงละทิ้งสิ่งโน้น รักษาสิ่งนี้ไว้

            เมื่อได้รับการยกย่องกับเมื่อได้รับความอับอายก็รู้สึกตกตะลึงจนทำอะไรไม่ ถูก เห็นชีวิตตนเท่ากับเห็นมหาภัย 

            อะไรที่เรียกว่าเมื่อได้รับการยกย่องกับเมื่อได้รับความอับอาย ก็รู้สึกตกตะลึงทำอะไรไม่ถูก

            ความจริงได้รับการยกย่อง ไม่ใช่สิ่งที่เป็นเกียรติ 

            แต่ (คนเรา) เมื่อได้รับความเมตตากรุณา ก็ตกตะลึง เมื่อไม่ได้รับความเมตตากรุณาก็ตกตะลึง นี่แหละที่เรียกว่าเมื่อได้รับการยกย่องกับเมื่อได้รับความอับอายก็รู้สึก ตะลึงจนทำอะไรไม่ถูก

            อะไรที่เรียกว่าเห็นชีวิตตนเท่ากับเห็นมหาภัย ที่เราเห็นว่ามีมหาภัยนั้น เพราะเรามีชีวิตอยู่ ถ้าไม่มีชีวิตนี้เราจะเห็นมหาภัยได้อย่างไร

            ฉะนั้น จึงกล่าวว่า ถ้าใครนำ “ความเห็นแก่ชีวิตตน” ไปทำงานเพื่อบ้านเมือง ก็จะฝากบ้านเมืองแก่เขาผู้นั้นได้ ถ้านำเอา “ความรักต่อชีวิตตน” ไปทำงานเพื่อบ้านเมือง ก็จะมอบบ้านเมืองแก่เขาผู้นั้นได้

            ผู้มีสัจจธรรมในโบราณกาล มีความประเสริฐ และมีความรู้ทั่วถึงทุกสิ่งซึ่งลึกซึ้งจนเราไม่อาจจะรู้เห็นได้และก็เพราะ ไม่อาจรู้เห็นได้นั่นเอง จึงขอบรรยายด้วยวิธีนี้

            มีความพินิจถี่ถ้วน เหมือนขณะเดินลุยข้ามแม่น้ำในฤดูหนาว (ซึ่งน้ำบางแห่งแข็งตัวบางแห่งไม่แข็งตัว ถ้าไม่ดูให้ละเอียด ก้าวไปบนน้ำที่ไม่แข็งตัว ก็จะจมน้ำไป)

            มีความระมัดระวัง เหมือนป้องกัน (คนสะกดรอย) ติดตามอยู่ทุกด้าน

            มีความสำรวม เหมือนกำลังเป็นแขก (ในพิธีใหญ่) อยู่

            มีความอ่อนน้อมน่าคบหา เหมือนหิมะกำลังละลาย 

            มีความหนักแน่น เหมือนหินหยกที่ยังไม่ได้แกะสลัก

            มีความโปร่งว่าง เหมือนเหวลึกในหุบเขาสูงชัน 

            มีความกลมกลืน (แต่) เหมือนกับมีความขุ่นปนอยู่

            มีความสงบ เหมือนทะเลลึก

            มีความคล่องไว เหมือนไม่มีที่สิ้นสุด

            ใครเล่า ที่สามารถมีความสงบได้ทันทีทันใดในขณะที่เกิดความสับสนอลหม่าน แล้ว (จิตใจ) ค่อยๆ เกิดความผ่องใส

            ใครเล่า ที่สามารถก่อเกิดความตื่นตัวขึ้นในขณะที่เงียบสงบ แล้วค่อย ๆ ก้าวคืบต่อไปได้ 

            ผู้ที่สามารถยึดมั่นในหลักนี้ได้ ย่อมไม่ยอมหยุดนิ่งอยู่ และเนื่องด้วยความไม่ยอมหยุดนิ่งอยู่นั่นเอง จึงสามารถขับของเก่าออกไป แล้วเปลี่ยนรับของใหม่เข้ามาได้
ยกเลิกการ ศึกษา (ทางโลก) ไม่เห็นจะเป็นภัยได้อย่างไร ฐานะสูงกับฐานะต่ำ ไม่เห็นจะต่างกันตรงไหน บุญกับบาป ไม่เห็นต่างกันอย่างไร แต่เมื่อทุกคนกลัวเราก็อย่าฝืนทำ
อาณาเขตจิตใจ มันช่างกว้างขวางเหมือนไม่มีที่สิ้นสุด

            คนอื่นๆ ร่วมกันร้องรำทำเพลง สนุกร่าเริงเหมือนร่วมงานเลี้ยงพิธีใหญ่ เหมือนไปทัศนาจรบนหอสูงในฤดูใบไม้ผลิ

            นั่งสงบอยู่ ไม่รู้สึกยินดียินร้ายประการใด เหมือนเด็กที่ไม่รู้จักการเล่น เหมือนมีความอ่อนเพลีย เหมือนไม่มีบ้านจะกลับไปพักอาศัย 

            คนอื่น ๆ ดูเหมือนมีอะไรเหลืออยู่ มีแต่เราเหมือนยังขาดอะไรอยู่ เราช่างมีจิตใจเหมือนคนโง่เสียจริง ๆ ดูเหมือนเป็นคนเลือน ๆ ลาง ๆ 

            คนอื่น มีความเปล่งปลั่ง โอ้อวด แต่เราดูเหมือนงง ๆ ซึม ๆ 

            คนอื่น ๆ ดูฉลาดว่องไว มีแต่เราดูเหมือนไม่เข้าใจอะไร

            คนอื่น ๆ ดูจะทำอะไรได้อีกมาก มีแต่เราโง่และอุ้ยอ้าย

            เรากับคนอื่นๆ มีความห่างไกลกันมากมายเหลือเกิน

            (ทั้งนี้เพราะ) เราถือการทำชีวิตให้เข้าถึงสัจจธรรมเป็นเรื่องสำคัญ

            พูดน้อย (มักหมายถึงออกคำสั่งออกกฎข้อบังคับน้อย) ย่อมชอบด้วยธรรมชาติ 

            ฉะนั้น พายุจัด พัดไม่ถึงแค่เช้า พายุฝนจัด ตกไม่ถึงวัน ใครทำให้มันเป็นเช่นนี้ ก็ฟ้ากับดิน (ทำ) นั่นเอง ฟ้ากับดินยังทำ (ลมพายุจัดกับพายุฝนจัด) ให้นานไม่ได้ ไหนเลยคนเราจะทำ (อะไรรุนแรงหนักหนา) ให้นานได้

            ดังนั้นผู้ปฏิบัติสัจจธรรมย่อมเหมือนกับสัจจธรรม (เป็นไปตามสัจจธรรม) (ผู้ที่ปฏิบัติตาม) คุณธรรมย่อมเหมือนกับคุณธรรม ผู้ที่เสีย (สัจจธรรมกับคุณธรรม) ก็ย่อมเหมือนกับเสีย (สัจจธรรมกับคุณธรรมเป็นผู้โหดร้ายทารุณ)

            ผู้ที่เหมือนกับสัจจธรรม สัจจธรรมย่อมชื่นชมในการที่ได้เขาผู้นั้น ผู้ที่เหมือนกับคุณธรรม คุณธรรมก็ชื่นชมที่ได้เขาผู้นั้น ผู้ที่เสีย (สัจจธรรมกับคุณธรรม) นั้น ย่อมต้องชื่นชมกับ (ผลแห่ง) การเสีย (สัจจธรรมกับคุณธรรม)

            เมื่อไม่มีความซื่อสัตย์เพียงพอ ก็ต้องมีคนไม่เชื่อถือ

            ความหนักแน่นเป็นรากฐานแห่งความสะเพร่า ความสงบเป็นแม่ทัพที่สามารถควบคุมความลุกลี้ลุกลน

            ฉะนั้น อำมาตย์จะไปที่ใด ต้องมีเสบียงติดตัวอยู่ แม้จะมีความเป็นอยู่อย่างสุขสบายแต่ก็ (ทำตัวเป็นอยู่) ง่าย ๆ เหตุไฉน (ผู้ที่) เป็นประมุขของนครใหญ่กลับมองไม่เห็นความสำคัญของชีวิตตน

            ความสะเพร่าทำให้เสียรากฐาน ความลุกลี้ลุกลนทำให้เสียแม่ทัพ

            รู้ว่า (ตนเองมี) ความเข้มแข็ง แต่รักษา (ตัวด้วย) ความอ่อนโยน

            เป็นลำคลองของชาวโลก ความเป็นลำคลองของชาวโลกและตั้งอยู่ในคุณธรรม ไม่ห่างจากคุณธรรม (ทำจิตใจให้) กลับไปสู่ความเป็นเด็กอ่อน (อันบริสุทธิ์) 

            เห็นชัดแจ้ง รู้ลึกซึ้ง แต่ (ทำตนเหมือน) อยู่ในความมืดมัว

            เป็นเหวของชาวโลก ความเป็นเหวของชาวโลกและตั้งอยู่ในคุณธรรมจึงมีความสมบูรณ์ กลับไปสู่ความเป็นธรรมชาติที่แท้จริง

            สัจจธรรมอันเป็นธรรมชาติที่แท้จริง กระจายออกไปเป็นสรรพสิ่ง อริยบุคคลใช้ความเป็นธรรมชาติที่แท้จริงนี้ตลอดมา จึงได้ดำรงในตำแหน่งความเป็นประมุขของอำมาตย์ทั้งหลาย 

            ฉะนั้น การปกครองที่สมบูรณ์ คือการไม่ปกครอง

            ผู้ที่เข้าใจคนอื่น เรียกว่าผู้มีสติปัญญา ผู้ที่เข้าใจตนเอง คือผู้มีความเห็นแจ้ง

            ผู้ที่ชนะคนอื่น คือผู้ที่มีกำลัง ผู้ที่ชนะตนเองคือผู้ที่มีความสามารถ

            ผู้ที่รู้จักพอ คือผู้ที่มั่งมี

            ผู้ที่มีความขยัน คือผู้ที่มีอุดมคติ (อันดีงาม)

            ผู้ที่ไม่ละทิ้งรากฐานของตน คือผู้ที่อยู่ได้นาน

            ผู้ที่ตายไปแล้ว แต่สัจจธรรม (ที่ได้เคยปฏิบัติไว้) ยังคงอยู่ คือผู้ที่มีอายุยาวนาน

            จะรวบเข้ามา ต้องขยายออกไปก่อน จะอ่อนแอ ต้องเข้มแข็งมาก่อน จะเสื่อมโทรมต้องเจริญรุ่งเรืองมาก่อน จะได้รับ จะต้องให้ก่อน นี่คือลางที่ให้ได้เห็นก่อน 

            อ่อนโยนดีกว่าแข็งกร้าว ปลาไม่อาจออกจากสระน้ำได้ อาวุธของบ้านเมือง ไม่ (ควรเอาออกมา) โอ้อวดให้ใครได้รู้เห็นง่าย ๆ 

            ผู้มีคุณธรรมสูงไม่แสดงความมีคุณธรรม (ซึ่งกระทำไปตามแบบฉบับให้พ้น ๆ ไป) ฉะนั้น จึงเป็นผู้มีคุณธรรม 

            ผู้ที่มีคุณธรรมต่ำ ไม่ยอมละทิ้งการแสดงความมีคุณธรรม (ด้วยการกระทำตามแบบฉบับให้พ้น ๆ ไป) จึงเป็นผู้ไม่มีคุณธรรม

            ผู้ที่มีคุณธรรมสูง กระทำไป (ตามหลักคุณธรรม) อย่างปกติ ไม่มีเจตนาทำเพื่อ (ประโยชน์ส่วนตัว) 

            ผู้มีคุณธรรมต่ำ กระทำไปอย่างปกติ แต่มีเจตนาเพื่อ (ประโยชน์ส่วนตัว)

            ผู้มีเมตตาสูง มีการกระทำ แต่ไม่มีเจตนาเพื่อ (ประโยชน์ส่วนตัว)

            ผู้มีพฤติกรรมอันชอบ มีการกระทำและมีเจตนา (ที่จะกระทำ) 

            ผู้มีจริยธรรมสูง มีการกระทำ แต่เมื่อการกระทำนั้น ไม่ได้รับการสนองโดยดี (ไม่มีใครเห็นพ้องด้วย) ก็จะยื่นแขนออกไปจับ (บังคับ) คนอื่นให้มากระทำตาม

            ฉะนั้นเมื่อ (บ้านเมือง สังคม บุคคล) ปราศจากสัจจธรรมแล้ว จึงเกิดมีคุณธรรม (มาชดเชย) เมื่อปราศจากคุณธรรมไปแล้ว จึงเกิดมีเมตตา เมื่อปราศจากเมตตาไปแล้ว จึงเกิดมีพฤติกรรมอันชอบ เมื่อปราศจากพฤติกรรมอันชอบไปแล้ว จึงเกิดมี จริยธรรม (ทำตามแบบฉบับให้พ้น ๆ ไปเพื่อเป็นการชดเชย)

            จริยธรรม คือ (นำมาเสริม) ความบกพร่องของความกตัญญูกับความซื่อสัตย์เป็นจุดเริ่มของความอลเวง (ของบ้านเมือง สังคม บุคคล)

            ผู้ที่รู้ (ก่อนเกิดเหตุ) นั้น เพียงแต่รู้ภาพลวงของสัจจธรรมเท่านั้น และเป็นการเริ่มของความโง่เขลา

            ฉะนั้น มหาบุรุษตั้งตัวด้วยความหนักแน่นเป็นธรรมชาติ ไม่อยู่ในที่เสื่อมโทรม ตั้งจิตแน่วแน่สัตย์จริง ไม่ตั้งอยู่ในที่หลอกลวงโอ้อวด

            ดังนั้น จึงละทิ้งความเสื่อมโทรมโอ่อ่าและยึดมั่นความหนักแน่นมั่นคง

            ชื่อเสียงกับชีวิต เมื่อเทียบกันแล้ว อย่างไหนจะมีความสำคัญกว่าสำหรับตัวเรา

            ชีวิตกับทรัพย์สิน เมื่อเทียบกันแล้ว อย่างไหนจะมีค่ากว่า

            ได้ชื่อเสียงทรัพย์สินกับการเสียชีวิตไป อย่างไหนจะคุ้มค่ากว่ากัน

            ดังนั้น รักชื่อเสียงของตนจนเกินกว่าเหตุ จะต้องเสียค่าใช้จ่าย (ในการรักษา) เป็นจำนวนมาก มีทรัพย์สมบัติมากมาย จะนำมาซึ่งความเสียหายอย่างใหญ่หลวง
รู้จักพอ จะไม่ต้อง (ได้รับความ) อับอาย รู้จักหยุดจะไม่มีอันตราย และทำเช่นนี้จะอยู่ได้ยั่งยืน

            เมื่อบ้านเมืองเรียบร้อย เอาม้าศึกไปให้ชาวนาไว้ไถนาได้ เมื่อบ้านเมืองไม่เรียบร้อย แม้ม้าที่กำลังตั้งครรภ์อยู่ ก็ต้องนำมาใช้ในการรบ

            ไม่มีภัยอันใด ที่ยิ่งไปกว่าความไม่รู้จักพอ ไม่มีโทษอันใดที่ยิ่งไปกว่ามีความโลภไม่สิ้นสุด ฉะนั้นผู้ที่รู้จักพอ ความพอของเขา จะเป็นความพอที่มีไปได้ตลอดชีวิต

            ไม่ออกจากประตูบ้าน สามารถรู้เหตุการณ์ของโลก ไม่มองออกไปจากหน้าต่าง สามารถรู้กฎแห่งธรรมชาติ ยิ่งวิ่งออกไปไกลเท่าใด ที่จะสามารถรู้ได้กลับจะยิ่งน้อย
ฉะนั้น อริยบุคคล สามารถรู้ได้โดยไม่ต้องออกไปไหน ไม่มองหาอะไร จึงรู้ได้แจ่มแจ้ง ไม่กระทำอะไร (ที่รู้ไม่จริง) จึงมีความสำเร็จ (ในการกระทำ)

            อริยบุคคลไม่มีความเห็น (ส่วนตัว) แต่ถือความเห็นของพลเมืองเป็นความเห็น (ของตน)

            คนดี เราดีกับเขา คนไม่ดี เราก็ดีกับเขา เช่นนี้ก็จะทำให้เขาไปสู่ความดี 

            คนรักษาความสัตย์ เราไว้ใจเขา คนไม่รักษาความสัตย์ เราก็ไว้ใจเขา เช่นนี้จะทำให้ทุกคนมีความสัตย์

            อริยบุคคลอยู่ในตำแหน่งประมุข เก็บซ่อนความต้องการของตน ให้ทุกคนมีจิตใจเป็นธรรมชาติสุจริต พลเมืองมีความสำรวมหูและตาของตน 

            อริยบุคคลให้พวกเขาเหล่านั้น กลับไปสู่ความเป็นเด็กอ่อน (อันมีจิตใจบริสุทธิ์)

            คนออกมาสู่โลก เรียกว่าเกิด คนเข้าไปอยู่ในดินเรียกว่าตาย ที่มีอายุยืน ๓ ใน ๑๐ ที่อายุสั้น ๓ ใน๑๐ ที่ควรจะอายุยืนแต่ตนเองไปหาที่ตายเอง ๓ ใน ๑๐ เพราะเหตุใด (ที่ไปหาที่ตายเอง) เพราะการกินการอยู่ดีเกินไป

            ทราบว่า คนที่มีความสามารถในการรักษาชีวิตคนนั้นเมื่อเดินอยู่บนดินไม่พบแรดกับเสือ อยู่ในสนามรบ ไม่ถูกประหารหรือบาดเจ็บ แรด ไม่ต้องใช้นอของมัน เสือไม่ต้องใช้เล็บของมัน อาวุธรบไม่ต้องใช้ความคมแหลมของมัน เพราะเหตุใด เพราะเหตุที่เขาไม่มี (สาเหตุ) ที่จะต้องตาย

            ผู้ที่สามารถในการก่อสร้าง ไม่มีใครรื้อถอน (การก่อสร้างของเขา) ได้ ผู้ที่สามารถในการยึดมั่นไม่มีใครทำให้หลุดมือ (ไปจากเขา) ได้ ถ้าลูกหลานปฏิบัติตามนี้ พิธีเซ่นไหว้จะไม่ขาดไปทุกชั่วคน

            ผู้ที่ปฏิบัติตามหลักนี้จะเป็นผู้ที่มีคุณธรรมที่แท้จริง ปฏิบัติด้วยครอบครัวจะมีคุณธรรมเหลือหลาย ปฏิบัติด้วยหมู่บ้าน หมู่บ้านจะได้รับการยกย่องสรรเสริญปฏิบัติด้วยนคร นครจะมีความรุ่งเรือง ปฏิบัติด้วยประเทศ ประเทศจะมีคุณธรรมแผ่ทั่วไปทุกทิศ

            ฉะนั้น จะต้องจากตัวเราไปพิจารณาคนอื่น จากครอบครัวเราไปพิจารณาครอบครัวอื่น จากหมู่บ้านเราไปพิจารณาหมู่บ้านอื่น จากนครเราไปพิจารณานครอื่น จากประเทศเราไปพิจารณาประเทศอื่น

            เหตุที่ทราบเรื่องของประเทศ ก็เพราะใช้หลักนี้

            รู้ว่าตนมีอะไรที่ยังไม่รู้ เป็น (บุคคล) ที่ประเสริฐอย่างยิ่ง ไม่รู้แต่นึกเอาเองว่าตนเองรู้เป็นภัยอย่างยิ่ง

            อริยบุคคลไม่มีภัย เพราะท่านถือว่าภัยนั้นคือภัย (สิ่งที่ไม่รู้นั้นถือว่าไม่รู้) ก็เพราะท่านถือว่าภัยนั้นคือภัย เพราะฉะนั้น ท่านจึงไม่มีภัย

            คนยังมีชีวิตอยู่ ร่างกายอ่อนนิ่ม เมื่อตายไปแล้วร่างกายจึงแข็งกระด้างไป ต้นไม้ที่ยังมีชีวิตอยู่ มีลักษณะอ่อนเปราะ แต่พอตายแล้ว จึงกลายเป็นแข็งแห้ง

            ดังนั้น สิ่งที่แข็งแห้งกระด้างนั้น เป็นของที่ตายแล้ว สิ่งอ่อนนิ่มนั้นเป็นของมีชีวิตอยู่

            ดังนั้น กองทัพที่แข็งกร้าวจะต้องล่มจม ต้นไม้ที่แข็งใหญ่ จะต้องถูกตัด คนที่แข็งกระด้าง จะต้องตาย (ไปโดยเร็ว) คนที่แข็งกร้าวเหี้ยมโหดจะต้องตายโดยมีอันจะเป็นไป

            แข็งแกร่งใหญ่ยิ่งนั้น มีฐานะอยู่ที่ต่ำ

            อ่อนโยน กล้าหาญ มีฐานะอยู่ที่สูง 

--
- โปรดร่วมกัน เสวนา ถาม-ตอบ วันละ 1 กระทู้ สร้างความรู้ใหม่ได้ มหาศาล -
 
แนะนำ :
 
http://www.JobSiam.com : โปรโมชั่น*! ประกาศงานฟรี เพิ่มอีก 1 เดือน ถึง 31 มีนาคม 2553 นี้ เท่านั้น.
 
http://www.SiamHRM.com : สยามเอชอาร์เอ็ม ดอทคอม รวมพลคนทำงาน มากที่สุด
~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~
 
คุณได้รับข้อความนี้เนื่องจากคุณเป็นสมาชิกกลุ่ม Google Groups กลุ่ม "บริหารทรัพยากรมนุษย์ ประเทศไทย"
- หากต้องการโพสต์ ถึงกลุ่มนี้ ให้ส่งอีเมลไปที่ siamhrm@googlegroups.com
- หากต้องการยกเลิกการเป็นสมาชิกกลุ่ม ส่งอีเมลไปที่ siamhrm+unsubscribe@googlegroups.com (ยืนยัน การยกเลิกใน Email อีกครั้ง.)
- หากต้องการดูกระทู้ หัวข้อ HR โปรดไปที่กลุ่มนี้โดยคลิกที่ http://groups.google.co.th/group/siamhrm?hl=th&pli=1
- เนื่องจากสมาชิกมีจำนวนมาก สมาชิกทุกท่าน ควรอ่านกติกา มารยาท และใช้เมล์กรุ๊ปร่วมกัน อย่างสร้างสรรค์
~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~

ไม่มีความคิดเห็น: