วันอาทิตย์ที่ 14 มีนาคม พ.ศ. 2553

[SIAMHRM.COM :24519] ปรัชญาแผ่นดิน - ๔. อภิปรัชญา

สัจจธรรมที่อธิบายได้ ไม่ใช่สัจจธรรมอมตะ นามที่ขนานเป็นนามได้ไม่ใช่นามที่อมตะ

            อภาวะ เป็นฐานเริ่มแห่งฟ้ากับดิน ภาวะ เป็นรากฐานแห่งสรรพสิ่ง

            ฉะนั้น จึงต้องเพ่งวิจัยความเป็นอภาวะ เพื่อเห็นแจ้งในความลึกซึ้งของสัจจธรรม  และต้องเพ่งวิจัยความเป็นภาวะ เพื่อเห็นแจ้งในขอบเขตแห่งสัจจธรรม

            อภาวะกับภาวะ แม้จะมีนามที่แตกต่างกัน แต่มีที่มาจากแห่งเดียวกัน มาจากความลึกซึ้ง ความลึกซึ้งซึ่งยิ่งไปกว่าความลึกซึ้ง อันเป็นประตูแห่งความเปลี่ยนแปลงของสรรพสิ่ง 

            สัจจธรรม เป็นความสูญความว่างเปล่า แต่ใช้เป็นประโยชน์ได้โดยไม่สิ้นสุด มีความลึกซึ้งเหมือนเป็นประมุขแห่งสรรพสิ่ง ความลึกซึ้งนี้เหมือนไม่มีแต่มีอยู่โดยแท้จริง ไม่ทราบว่ากำเนิดมาแต่แห่งหนใด เหมือนมีก่อนที่จะมีพระผู้เป็นเจ้าใด ๆ 

            ฟ้ากับดินไม่มีความลำเอียง ปล่อยให้สรรพสิ่งเกิดดับตามธรรมชาติ อริยบุคคลไม่มีความลำเอียง ปล่อยให้ทุกคนเติบโตไปด้วยตนเองลาง ๆ นั้น ก็มีลักษณะอยู่ ในความเลือน ๆ ลาง ๆ นั้น ก็มีสิ่งที่แท้จริงอยู่มันช่างเป็นสิ่งที่ลึกซึ้งไกลโพ้น และในความลึกซึ้งไกลโพ้นนี้ มีสิ่งที่ละเอียดยิ่งนี้ ได้เป็นอยู่และมีอยู่โดยแท้จริง เป็นสิ่งที่เชื่อถือได้และพิสูจน์ได้

            ตั้งแต่โบราณกาลมา นามของมันไม่เคยถูกลบล้างและก็อาศัยมันจึงได้รู้เห็นรากฐานแรกเริ่มของสรรพ สิ่งได้

            มีสิ่งหนึ่ง เป็นธรรมชาติกลมกลืนเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน มีอยู่แล้วก่อนที่จะมีฟ้ากับดิน

            ฟังก็ไม่ได้ยินเสียงของมัน มองไม่เห็นลักษณะของมัน มันมีความอิสระและยั่งยืน ไม่มีการเปลี่ยนแปลง มันดำเนินไปเป็นวงจรโดยไม่มีที่สิ้นสุด กล่าวได้ว่ามันเป็นที่กำเนิดของฟ้า ดินและสรรพสิ่งไม่ทราบชื่อมัน ต้องเรียกมันว่า “สัจจธรรม” ด้วยความจำเป็น (เพราะไม่มีทางเรียกมันได้) หรือด้วยความจำเป็นที่จะต้องเรียกอีก ก็เรียกมันว่า “ใหญ่ยิ่ง” มันใหญ่ยิ่งจนไม่มีขอบเขตและหมุนเวียนไม่มีที่สิ้นสุด หมุนเวียนไม่มีที่สิ้นสุดแล้วยังขยายออกไปอีกแสนไกล ขยายไปอีกแสนไกลแล้ว ก็กลับมายังที่จุดเดิมอีก

            ฉะนั้น จึงกล่าวว่า สัจจธรรมเป็นความใหญ่ยิ่ง ฟ้าเป็นความใหญ่ยิ่งดินเป็นความใหญ่ยิ่ง คนเป็นความใหญ่ยิ่ง ในโลกนี้มีความใหญ่ยิ่งอยู่ ๔ ประเภท และคนเป็นความใหญ่ยิ่ง ๑ ใน ๔ 

            คนปฏิบัติตามกฎของดิน ดินปฏิบัติตามกฎของฟ้า ฟ้าปฏิบัติตามกฎของสัจจธรรม สัจจธรรมปล่อยให้เป็นไปตามธรรมชาติ

            สัจจธรรม ไม่มีนามมาตลอดเวลา มีลักษณะเป็นธรรมชาติอย่างง่าย ๆ แม้ (เมื่อ) แสดงออกมาเป็นสิ่งเล็ก (จนมองไม่เห็น) แต่ในโลกนี้ก็ไม่มีใครบังคับมันได้ ถ้าเจ้านครรักษามันไว้ได้ สรรพสิ่งจะมาหา (เจ้านคร) เอง

            ฟ้ากับดินผสมกัน จะกลายเป็นฝน ไม่ต้องมีใครบัญชา มันจะมีความสม่ำเสมอโดยธรรมชาติ

            การกำเนิดเติบโตของสรรพสิ่ง ทำให้เกิดมีนามต่างๆ กัน เมื่อนามต่าง ๆ ถูกกำหนดแน่นอนลงไปแล้ว ก็ควรจะต้องระงับเสียบ้าง รู้ว่าควรระงับเสียบ้างจะไม่เกิดอันตราย
สัจจธรรมเป็นที่น้อมนอบพึ่งพิง ของโลก เหมือนกับทะเลเป็นแหล่งที่ไหลสู่แม่น้ำทั้งหลาย 

            สัจจธรรมอันใหญ่ยิ่ง ไหลบ่าท่วมท้นไป (เหมือนน้ำ) ทั่วทุก ๆ แห่ง

            สรรพสิ่งอาศัยน้ำเพื่อความเกิดและงอกงาม แต่น้ำไม่ได้บัญชาให้เป็นไป (น้ำ) มีความสำเร็จผล แต่ไม่ถือว่าเป็นความดีของตน หล่อเลี้ยงสรรพสิ่ง แต่ไม่ถือว่าตนเป็นเจ้าของ (สรรพสิ่ง) (เมื่อมองในแง่นี้) จะกล่าวได้ว่า น้ำเป็นสิ่งเล็ก สรรพสิ่งขึ้นอยู่กับน้ำ แต่น้ำก็ไม่ถือว่าตนเป็นเจ้าของ (เมื่อมองในแง่นี้) ก็จะกล่าวได้ว่า น้ำเป็นสิ่งใหญ่ยิ่ง

            เพราะเหตุที่ไม่ถือว่าตนเป็นผู้ใหญ่ยิ่ง จึงสำเร็จผลในความเป็นผู้ใหญ่ยิ่ง 

            ยึดมั่นในสัจจธรรมอันใหญ่ยิ่ง (ย่อมทำให้) ทุกคนมาพึ่งพาอาศัยและที่มาพึ่งพาอาศัยนั้นไม่ทำร้ายต่อกัน เพราะทุกคนมีความสุขสบายดีอยู่แล้ว 

            ดนตรีที่ไพเราะกับอาหารที่โอชา ทำให้คนเดินผ่านต้องหยุด (ฟังและดู) แต่สัจจธรรมเมื่อพูดออกมาแล้ว มันจางจนไม่เป็นรส มองก็ไม่เห็นอะไรฟังก็ไม่ได้ยิน (ก็ตาม) แต่ถ้านำไปใช้ จะใช้ได้ไม่มีวันสิ้นสุด

            จำเดิม (แต่โบราณกาล) ที่ได้ “หนึ่ง” (คือการมีสัจจธรรม) เช่นฟ้าได้หนึ่งก็แจ่มใส ดินได้หนึ่งก็สงบปกติ เทพเจ้าได้หนึ่งก็มีอิทธิฤทธิ์ แม่น้ำลำคลองได้หนึ่งก็เต็มเปี่ยม สรรพสิ่งได้หนึ่งก็กำเนิดเติบโต เจ้านครได้หนึ่งก็สามารถทำให้บ้านเมืองมีความปกติสุข เหล่านี้ได้มาจากหนึ่งทั้งนั้น

            หากฟ้าไม่สามารถรักษาความแจ่มใสไว้ได้ ก็จะต้องแตกสลาย ดินไม่สามารถรักษาสงบปกติไว้ได้ก็จะพังทลาย เทพเจ้าไม่สามารถรักษาอิทธิฤทธิ์ไว้ได้ก็จะต้องสูญดับไป แม่น้ำลำคลองไม่สามารถรักษาความเต็มเปี่ยมไว้ได้ ก็จะแห้งเหือดไป สรรพสิ่งไม่สามารถรักษาการกำเนิดเติบโตไว้ได้ก็จะต้องสูญพันธุ์ไป เจ้านครไม่สามารถรักษาความปกติสุขไว้ได้ ก็จะต้องล่มจมไป

            ฉะนั้น (ผู้มียศ) สูงถือ (ผู้) ไม่มียศเป็นรากฐานความสูงถือความต่ำเป็นรากฐาน เหตุนี้ เจ้านครจึงเรียกตนเองว่า “ผู้มีคุณธรรมบกพร่อง” “ผู้มีคุณธรรมน้อย” หรือ “ผู้มีคุณธรรมไม่เพียงพอ” นี่มิใช่เอาความต่ำมาเป็นรากฐานของความสูงหรือ ไม่เป็นความจริงหรือ ที่ทุกคนเกลียด “ผู้มีคุณธรรมบกพร่อง” “ผู้มีคุณธรรมน้อย” หรือ “ผู้มีคุณธรรมต่ำไม่เพียงพอ” แต่เจ้านครใช้มาเรียกตนเอง

            เกียรติที่สูง ไม่จำเป็นต้อง (ให้ตนเอง) อวดอ้าง

            ฉะนั้น สิ่งของทุก ๆ สิ่ง เมื่อลดจำนวนมันลงแล้ว มันจะกลับเพิ่มมากขึ้น เพิ่มเติมให้มัน มันกลับจะลดน้อยลงไป

            การเคลื่อนไหวของสัจจธรรม คือการหมุนเวียนประโยชน์ของสัจจธรรม คือความอ่อนโยน

            สรรพสิ่งในโลกนี้ เกิดจาก “ภาวะ” ภาวะเกิดจาก “อภาวะ” 

            สัจจธรรมเป็นสิ่งหนึ่งสิ่งเดียวที่ไม่มีอะไรเทียบได้ และมีกระแสลบกับกระแสบวกอยู่แต่ดั้งเดิม กระแสลบกับกระแสบวกผสมผสานกันแล้วก็เกิดเป็นสภาพที่กลมกลืนสม่ำเสมอ แล้วให้กำเนิดแก่สรรพสิ่ง สรรพสิ่งหันหลังให้กระแสลบ หันหน้าให้กระแสบวก กระแสทั้งสองนี้ ต่างผลักดันกันแล้วให้กำเนิดแก่สิ่งที่สอดคล้องต้องกันใหม่ขึ้นอีก

            สิ่งที่อ่อนโยนในโลกนี้ สามารถบังคับสิ่งที่แข็งกร้าวที่สุดในโลกนี้ได้

            พลังแรงที่ไม่มีรูปลักษณะ สามารถจะผ่านสิ่งที่แข็งกร้าวที่ไม่มีช่องว่างได้ เหตุนี้ จึงได้ทราบคุณประโยชน์ของ “อกฤต”

            การอบรมสั่งสอนที่ไม่ต้องใช้คำพูด คุณประโยชน์ของอกฤต จะหาสิ่งใดในโลกนี้ (ที่ดีเท่า) มาเทียบยาก (วิธี) การสอนของคนโบราณ ได้นำมาสอนคนอื่นเช่นกัน ถือเป็นหลักในการสอน

            สัจจธรรมให้กำเนิดแก่สรรพสิ่ง คุณธรรมหล่อเลี้ยงสรรพสิ่ง เมื่อสรรพสิ่งเป็นรูปร่างขึ้นแล้ว ความแวดล้อมจะให้ความเติบโตแก่สรรพสิ่ง

            ฉะนั้น สรรพสิ่งจึงมีความเคารพต่อสัจจธรรมและถือว่าคุณธรรมเป็นของมีค่าสูง

            สัจจธรรมได้รับความเคารพและคุณธรรมได้รับเป็นของมีค่าสูง ก็เพราะ (สัจจธรรมกับคุณธรรม) ไม่ได้ก้าวก่ายสรรพสิ่ง ให้สรรพสิ่งเป็นไปตามธรรมชาติของมันเอง

            ดังนั้น สัจจธรรมให้กำเนิดแก่สรรพสิ่ง คุณธรรมหล่อเลี้ยงสรรพสิ่งให้สรรพสิ่งได้รับการเลี้ยงดูให้สรรพสิ่งเติบโต ให้สรรพสิ่งได้รับการปกปักรักษา สัจจธรรมแม้จะได้ให้กำเนิดแก่สรรพสิ่ง แต่ไม่ถือว่าสรรพสิ่งเป็นของตน ส่งเสริมสรรพสิ่ง แต่ไม่ถือว่าเป็นความสามารถของตน หล่อเลี้ยงสรรพสิ่ง แต่ไม่ถือว่าเป็นประมุขของสรรพสิ่ง นี่คือคุณธรรมอันใหญ่ยิ่งลึกซึ้ง 

            ทุกคนกล่าวว่า

            “สัจจธรรมนั้นใหญ่ยิ่งจริง ไม่เหมือนกับสิ่งอื่นใด”

            ก็เพราะความใหญ่ยิ่งนี่แหละ ฉะนั้น จึงไม่เหมือนกับสิ่งอื่นใด ถ้าเหมือนกับสิ่งอื่นใด มันก็เป็นสิ่งเล็กน้อยมาแต่ช้านานแล้ว

            แก้ว ๓ ประการซึ่งควรยึดมั่นและรักษาไว้คือ ๑. เมตตา ๒. ประหยัด ๓. ไม่กล้าอยู่หน้าของคนทั้งหลาย (ไม่นำหน้าคนทั้งหลาย) 

            ด้วยความมีเมตตา จึงมีความกล้าหาญ ด้วยการประหยัด จึงมีความกว้างใหญ่ ด้วยความไม่กล้าอยู่หน้าคนของคนทั้งหลาย จึงเป็นหัวหน้าของสรรพสิ่ง

            บัดนี้ (คนส่วนมาก) ละทิ้งความเมตตา แต่ต้องการมีความกล้าหาญละทิ้งการประหยัด แต่ต้องการมีความกว้างขวาง ละทิ้งความไม่กล้าอยู่หน้าของคนทั้งหลาย ไปชิงขึ้นหน้าคนอื่น จึงต้องตาย

            ความเมตตา ถ้านำมาใช้ในการรบ จะรบชนะให้เพื่อป้องกัน จะป้องกันได้มั่นคง ผู้ที่สามารถเผื่อแผ่ความเมตตา ฟ้าจะช่วยเหลือเขาผู้นั้นปกปักรักษาเขาผู้นั้น 

            พยายาม (ทำตัวเป็นคน) แข็งกร้าว จะต้องตาย พยายามอ่อนโยนจะมีชีวิตอยู่ สองประการนี้ มีประโยชน์และไม่มีประโยชน์เท่า ๆ กัน เป็นที่เกลียดชังของฟ้าใครทราบว่าเป็นเพราะเหตุใด

            กฎธรรมชาติ คือสามารถเอาชนะได้โดยไม่ต้องต่อสู้ สามารถตอบสนองได้โดยไม่ต้องพูด มาเองโดยไม่ต้องเรียก สามารถในการวางแผนงานแต่มีการผ่อนปรน
ขอบเขตแหของธรรมชาติ กว้างใหญ่ไพศาล ไม่มีที่สิ้นสุด และไม่มีใครรอดพ้นหนีไปได้ 

            ไกล่เกลี่ยความโกรธแค้น (ในระหว่างกันได้เสร็จสิ้นไปแล้วก็ตาม) แต่ก็ยังมีความโกรธแค้นเหลือค้างอยู่ (ในใจ) แต่ถ้าตอบสนองความแค้นของเขาด้วยการทำคุณแก่เขา (โดยไม่ต้องไกล่เกลี่ย) เช่นนี้จะไม่เป็นการดีหรือ

            ฉะนั้น อริยบุคคลเก็บต้นขั้วหนังสือยืมเงินไว้โดยไม่คิดจะทวงเงินนั้นคืน ผู้มีคุณธรรม ย่อมมีใจกว้างขวางเหมือนผู้ที่มีต้นขั้วหนังสือยืมเงิน (โดยไม่คิดจะเก็บไว้เพื่อทวงเงิน) ฉันนั้น 

            ผู้ที่ไม่มีคุณธรรม เหมือนการเก็บภาษีอย่างทารุณของพวกคุมงานภาษี

--
- โปรดร่วมกัน เสวนา ถาม-ตอบ วันละ 1 กระทู้ สร้างความรู้ใหม่ได้ มหาศาล -
 
แนะนำ :
 
http://www.JobSiam.com : โปรโมชั่น*! ประกาศงานฟรี เพิ่มอีก 1 เดือน ถึง 31 มีนาคม 2553 นี้ เท่านั้น.
 
http://www.SiamHRM.com : สยามเอชอาร์เอ็ม ดอทคอม รวมพลคนทำงาน มากที่สุด
~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~
 
คุณได้รับข้อความนี้เนื่องจากคุณเป็นสมาชิกกลุ่ม Google Groups กลุ่ม "บริหารทรัพยากรมนุษย์ ประเทศไทย"
- หากต้องการโพสต์ ถึงกลุ่มนี้ ให้ส่งอีเมลไปที่ siamhrm@googlegroups.com
- หากต้องการยกเลิกการเป็นสมาชิกกลุ่ม ส่งอีเมลไปที่ siamhrm+unsubscribe@googlegroups.com (ยืนยัน การยกเลิกใน Email อีกครั้ง.)
- หากต้องการดูกระทู้ หัวข้อ HR โปรดไปที่กลุ่มนี้โดยคลิกที่ http://groups.google.co.th/group/siamhrm?hl=th&pli=1
- เนื่องจากสมาชิกมีจำนวนมาก สมาชิกทุกท่าน ควรอ่านกติกา มารยาท และใช้เมล์กรุ๊ปร่วมกัน อย่างสร้างสรรค์
~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~

ไม่มีความคิดเห็น: