
จากใจ บ.ก. ใกล้ตัว - ฉบับที่ ๑๖๕
ทำอย่างไรจะมีสมาธิ?

ก่อนอื่นต้องเข้าใจว่าที่จะมีสมาธิได้ ไม่ใช่เอาแต่หารูปแบบทำสมาธิเดี๋ยวเดียว แต่ต้องเฝ้ากำจัดต้นเหตุความฟุ้งซ่านกันทั้งวัน และฝึกยอมรับความจริงตรงหน้าให้ได้เรื่อยๆด้วยความใจเย็น
คนส่วนใหญ่ถามหาวิธีทำสมาธิ
โดยไม่ตั้งโจทย์ให้ถูกว่าทำอย่างไรจะมีจิตใจตั้งมั่น
คนส่วนใหญ่ติดใจอยากสร้างเหตุแห่งความฟุ้งซ่านกันยาวๆ
แต่เรียกร้องหาวิธีลัดสั้นในการหยุดความฟุ้งซ่าน
คนส่วนใหญ่เข้าใจผิดคิดว่าต้องทำสมาธิด้วยการจ้องดูลมหายใจให้ชัด
โดยไม่เข้าใจว่าที่ถูกคือสังเกตไปเรื่อยๆว่า
แต่ละลมหายใจมี ‘ความจริง’ อะไรให้ยอมรับบ้าง
ลมกำลังเข้าหรือออก ลมกำลังยาวหรือสั้น
ลมกำลังนำมาซึ่งความอึดอัดหรือสบาย
ลมกำลังก่อให้เกิดความสงบเยือกเย็นหรือฟุ้งซ่านวกวน
รู้ให้หมด ไม่ใช่เลือกรู้เฉพาะดีๆ และปฏิเสธภาวะแย่ๆ
เพื่อจะเป็นสมาธิจริงในระยะยาว
ต้องคิดจะยอมรับทุกความจริงไปเรื่อยๆเป็นร้อยเป็นพันลมหายใจ
ไม่ใช่ตั้งใจจะอดทนดูแค่ลมสองลมแล้วอยากได้ความสงบท่าเดียว
โดยจุดมุ่งหมายสูงสุดของการดู คือความสามารถในการเห็นความจริง
ว่าแต่ละลมหายใจคือการแสดงความไม่เที่ยง
ไม่ใช่การแสดงว่าทุกสิ่งจะเป็นดังใจนึก
ที่สุดของการยอมรับความจริง
คือการได้เป็นอิสระจากอุปาทาน เป็นอิสระจากการคิดไปเองต่างๆนานา
ไม่ใช่สามารถทำในสิ่งที่ยังทำไม่ได้
ไม่ใช่เป็นในสิ่งที่ไม่อาจเป็น
มีความสุขความพอใจอยู่กับการรู้ว่ากำลังมีอะไรให้ดู
ไม่ใช่เอาแต่พอใจจะคิดว่ามีอะไรให้เป็น
ความพอใจในการรู้ความจริง
ด้วยจิตใจที่เป็นปกติอย่างต่อเนื่องนั่นแหละ สมาธิ
ดังตฤณ
มกราคม ๕๖


เรื่องน่าสนใจประจำฉบับ

หลายคนอาจเคยได้ยินเรื่องการทำบาป ว่าหากทำโดยไม่รู้ตัวจะให้ผลแรงกว่า
เหตุใดจึงเป็นเช่นนั้น พบคำเฉลยในคอลัมน์ “ดังตฤณวิสัชนา” ฉบับนี้ค่ะ
เพิ่งผ่านวันครูมาหมาดๆ เชื่อว่าทุกคนต่างก็มีครูในดวงใจ
คุณ aston27 เองก็เช่นกัน
อยากทราบว่าเป็นใคร ติดตามได้ในคอลัมน์ “ธนาคารความสุข”
ตอน “บทเรียนจากคุณครู”
หากคุณมีคนที่รู้สึกไม่ถูกชะตาแต่ต้องเจอหน้ากันอยู่บ่อยๆ
จะมีวิธีรับมือกับความรู้สึกตัวเองอย่างไร
หมอพีร์ พูดถึงเรื่องนี้ไว้ในคอลัมน์ “ไดอารี่หมอดู” ฉบับนี้ค่ะ
พบกันใหม่พฤหัสหน้า
ที่ www.dlitemag.com นะคะ
สวัสดีค่ะ (^__^)
--
---
คุณได้รับข้อความนี้เนื่องจากคุณสมัครรับข้อมูลจากกลุ่ม "ธรรมะใกล้ตัว" ของ Google Groups
หากต้องการยกเลิกการสมัครรับข้อมูลและหยุดรับอีเมลจากกลุ่มนี้ ให้ส่งอีเมลไปที่ dharma-at-hand+unsubscribe@googlegroups.com
หากต้องการดูตัวเลือกเพิ่มเติม กรุณาดูที่
https://groups.google.com/groups/opt_out
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น