วันอาทิตย์ที่ 14 มีนาคม พ.ศ. 2553

[SIAMHRM.COM :24517] ปรัชญาแผ่นดิน - ๒. ปรัชญาการปกครอง

ไม่ยกย่องคนฉลาด ราษฎรจะไม่ชิงดีกัน ไม่ถือสิ่งของที่หาได้ยากเป็นของมีค่า ราษฎรจะไม่คิดลักขโมย ไม่แสดงว่าชื่อเสียงลาภยศเป็นสิ่งที่ทุกคนพึงต้องการ ราษฎรจะไม่หลงผิด

            ฉะนั้น การปกครองของอริยบุคคล ต้องให้ราษฎรมีจิตใจสะอาด มีความอิ่มหนำสำราญ มีความมักน้อย มีร่างกายแข็งแรง ให้ราษฎรไม่มีความฉลาดในทางฉ้อโกง ไม่มีความคิดที่จะกระทำโจรกรรม ดั่งนี้แม้คนที่คิดว่าตนเป็นคนฉลาด ก็ไม่กล้าก่อเรื่องยุ่งยาก 

            การบริหารราชการด้วยความ “อกฤต” (ไม่กระทำสิ่งที่ฝืนธรรมชาติ ฝืนความเห็นส่วนมากหรือเห็นแก่ตน) ทุกอย่างก็จะเป็นระเบียบเรียบร้อย

            ละทิ้งเล่ห์เหลี่ยมฉ้อฉลเสีย ก็จะเป็นประโยชน์แก่ราษฎรร้อยเท่า เลิกการแสร้งทำเป็นเมตตา กับการกระทำที่ขอบ (ที่แสร้งทำ) เสีย ราษฎรก็จะคงคืนนิสัยกตัญญูและความกรุณาที่เคยมีอยู่ เลิกล้มกลอุบายและผลประโยชน์ในการค้าเสีย จะไม่มีใครคิดกระทำโจรกรรม ทั้ง ๓ สิ่งนี้ เป็นสิ่งที่หลอกลวงราษฎรซึ่งนำมาใช้ในการปกครองไม่ได้ 

            การที่จะให้ราษฎรปฏิบัติตามคำสั่ง ต้องแสดง (ให้ราษฎรเห็น) ความบริสุทธิ์ (ของตน) รักษาความเป็นธรรมชาติแบบง่าย ๆ ไม่เห็นแก่ตัวและตัดความโลภ (ของตน) ออกเสีย 

            ผู้ที่นำสัจจธรรมไปรับราชการสนององค์กษัตริย์นั้นต้องไม่ใช้กำลังทหารไปอวด ใหญ่แก่ใคร

            การใช้กำลังทหาร จะต้องได้รับผลสะท้อนกลับดินแดนที่กองทัพไปถึง (ผลที่สุด ดินแดนนั้น) จะต้องกลายเป็นดินแดนที่มีแต่หญ้าและหนามเมื่อการรบเสร็จสิ้นลง จะมีทุพภิกขภัยเกิดตามมา

            (การใช้กำลังทหาร) ก็เพื่อปลดเปลื้องภยันตรายเท่านั้น ไม่ควรใช้เพื่อข่มเหงคน เมื่อบรรลุผล (การรบ) แล้ว ไม่เย่อหยิ่ง

            การบรรลุผลการรบนี้ (ถือว่า) ได้กระทำไปด้วยความจำเป็น (โดยไม่มีทางอื่นให้เลือกอีก) บรรลุผลการรบแล้ว ไม่ข่มเหงใครต่อไป 

            ผู้ที่ทำตนเป็นคนแข็งกร้าว จะต้องเสื่อมโทรมลงเพราะไม่ชอบด้วยสัจจธรรม เมื่อไม่ชอบด้วยสัจจธรรมจะต้องดับสูญไปโดยเร็ว 

            อาวุธรบที่คมแหลม เป็นสิ่งอัปมงคล ทุกคนเกลียดชังมัน ฉะนั้น ผู้มีสัจจธรรม ไม่ใช้มัน 

            ปกติ บัณฑิตถือด้านซ้ายเป็นมงคล ในเวลารบ (กลับ) ถือด้านขวาเป็นมงคล 

            อาวุธรบเป็นสิ่งอัปมงคล ไม่ใช่สิ่งซึ่งบัณฑิตพึงใช้ จะใช้ก็ต่อเมื่อจำเป็นจริง ๆ ใช้ด้วยความไม่พอใจที่จะใช้ ใช้ด้วยความไม่ตั้งใจใช้เป็นดีที่สุด เมื่อรบชนะแล้วอย่าได้ใจ ถ้าได้ใจ ก็จะเป็นผู้ชอบฆ่าคน ผู้ที่ชอบฆ่าคนไม่ได้รับความสำเร็จผล (ในการปกครองบ้านเมือง)

            งานมงคลถือด้านซ้ายเป็นมงคล งานศพถือด้านขวาเป็นมงคล (การรบ) รองแม่ทัพอยู่ด้านซ้าย แม่ทัพอยู่ด้านขวา นี่หมายความว่า การรบเป็นงานศพ

            (การรบ) ต้องมีการฆ่าคนเป็นจำนวนมาก ต้องรบด้วยจิตใจอันเศร้าสลด เมื่อรบชนะแล้วจัดการต่อไปด้วยพิธีงานศพ

            สัจจธรรมเป็นไปตามธรรมชาติ และไม่มีสิ่งใดที่สัจจธรรมไม่ได้ทำขึ้น ถ้าเจ้านครสามารถรักษาสัจจธรรมไว้ได้แล้ว สรรพสิ่งจะกำเนิดเองเติบโตเอง 

            (แต่) เมื่อการกำเนิดการเติบโตต้องกลายเป็นความโลภมากแล้ว เราก็จะต้องระงับด้วยความเป็นธรรมชาติของสัจจธรรม ความเป็นธรรมชาติของสัจจธรรม ก็คือความไม่โลภ เช่นนี้ โลกย่อมเป็นปกติสุข

            ศึกษาค้นคว้าทุกวัน (ความรู้ก็) ยิ่งมากขึ้น ค้นคว้าศึกษาสัจจธรรมทุกวัน (ความโลภ) ก็ยิ่งลดน้อยลงทุกวัน ลดน้อยแล้วก็ลดน้อยลงไปอีก กระทั่งเข้าถึง      “อกฤต” ถ้าได้เข้าถึง “อกฤต” แล้ว ก็ไม่มีอะไรที่ทำไม่ได้

            การปกครองบ้านเมือง จะต้องเป็นไปโดย “อกฤต” หากผู้บริหารราชการมีงานที่ต้องทำมากมาย ผู้นั้น ก็ไม่สมควรจะเป็นผู้บริหารราชการบ้านเมือง 

            โลกย่อมมีต้นกำเนิดอันเป็นรากฐาน หากได้ทราบรากฐานนี้แล้ว ย่อมมีความแจ่มแจ้งในสรรพสิ่ง เมื่อมีความแจ่มแจ้งในสรรพสิ่งและยึดมั่นในรากฐานแห่งสรรพสิ่งนั้น ก็จะเป็นผู้ปราศจากภยันตรายไปตลอดชีวิต

            ระงับความต้องการและความโลภ ปิดประตูความต้องการและความโลภ จะปราศจากความยุ่งยากไปตลอดชีวิต

เปิดทางความต้องการและความโลภ จะเพิ่มความยุ่งยากขึ้น ไม่มีทางเยียวยาไปตลอดชีวิต

            ผู้เพ่งพิจารณาเห็นสิ่งเล็กน้อยได้จึงเป็นผู้เห็นแจ้งได้ ผู้ที่สามารถรักษาความอ่อนโยนได้ จึงเป็นผู้เข้มแข็งได้ ใช้แสงสว่างที่มองเห็นภายนอกกลับมาสู่ความเห็นแจ้งภายในของตนและตนเองไม่นำ ภัยมาให้แก่ตนเอง นี่คือสัจจธรรมที่ยั่งยืน ไม่มีวันสิ้นสุด

            ปกครองบ้านเมืองด้วยวิธีการที่สงบบริสุทธิ์ออกศึกด้วยวิธีที่พลิกแพลง ปกครองราษฎรด้วยวิธีที่ไม่รบกวน เหตุใดจึงทราบ (และกล่าว) ดั่งนี้ก็เพราะได้เห็นสิ่งเหล่านี้

            กฎหมายยิ่งมาก ราษฎรยิ่งยากจน ฝ่ายปกครองมีเล่ห์เหลี่ยมมากขึ้นบ้านเมืองยิ่งยุ่งยาก ฝ่ายปกครองยิ่งมีชั้นเชิงมาก เรื่องทุจริตก็ยิ่งมาก กฎหมายยิ่งเข้มงวด โจรผู้ร้ายยิ่งชุกชุม

            ฉะนั้น อริยบุคคลจึงกล่าวว่า เมื่อเราไม่กระทำ (การปกครอง) ราษฎร ราษฎรจะต้องปรับปรุงตนเอง เราชอบสงบ ราษฎรจะเดินตามระเบียบเอง เราไม่รบกวน (ราษฎร) ราษฎรก็จะร่ำรวย เราไม่มีความต้องการอะไร (จากราษฎร) ราษฎรก็ยิ่งซื่อสัตย์สุจริตขึ้น 

            การปกครองโดยอะลุ้มอล่วย ราษฎรจะมีความซื่อสัตย์ การปกครองเข้มงวด ราษฎรจะหลีกเลี่ยง มีเล่ห์เหลี่ยม 

            อันตรายนั่นแหละ มีความสุขแอบแฝงอยู่ และความสุขนั่นแหละมีอันตรายแอบแฝงอยู่ ใครจะไปทราบได้ว่า ที่สุดมันจะเป็นอย่างไร มันไม่มีกฎเกณฑ์ที่แน่นอน สุจริตกลับกลายเป็นทุจริตและบุญกลับกลายเป็นบาปได้ในทันทีทันใด ความงงงวยของราษฎร (ต่อเรื่องนี้) มีมาช้านานแล้ว 

            ปกครองนครใหญ่ (ทำแบบง่าย ๆ) เหมือนกับทอดปลาตัวเล็ก

            ใช้สัจจธรรมปกครองบ้านเมือง ผีสางจะหมดฤทธิ์ ไม่เพียงผีสางหมดฤทธิ์ เทพเจ้าก็ไม่กล้ามารุกราน ไม่เพียงแต่เทพเจ้าไม่กล้ามารุกราน อริยบุคคลก็ไม่มารุกราน เมื่อผีสางเทพเจ้าอริยบุคคลไม่มารุกราน ราษฎรก็มีความสุขสบาย 

            สัจจธรรมเป็นที่พึ่งของสรรพสิ่ง คนดียกย่องสัจจธรรม คนไม่ดีก็พึ่งพาสัจจธรรมด้วย 

            (ผู้มีสัจจธรรม) มีวาจาไพเราะงดงาม เป็นที่เคารพของคนทั่วไป มีพฤติกรรมประเสริฐยิ่งเป็นที่ยกย่องของทุกคน คนไม่ดีจะละทิ้ง (การพึ่งพา) สัจจธรรมอย่างไรได้ 

            ฉะนั้น ในตำแหน่งกษัตริย์ แต่งตั้งสามมหาอำมาตย์บริหารราชการ แม้จะประกอบพิธีถวายหยกก่อนแล้วถวายรถเทียมม้า ๔ ภายหลัง (อันเป็นพิธีถวายที่ใหญ่ยิ่ง) ก็ยังสู้ถวายสัจจธรรม (แด่กษัตริย์) ไม่ได้

            ในโบราณกาล มีเหตุผลอันใดที่ถือว่าสัจจธรรมเป็นสิ่งสำคัญยิ่งยอด ทั้งนี้ มิใช่ (เมื่อมีสัจจธรรมแล้ว) จะต้องการอะไรก็ได้และมีโทษอันใดก็ลบล้างโทษนั้นก็ได้หรือ ฉะนั้น (สัจจธรรม) จึงเป็นที่เคารพของคนทั่วโลก 

            ถือว่าการไม่กระทำเป็นการกระทำ ถือความไม่มีงานเป็นงาน ถือความไม่มีรสเป็นรส 

            จัดการเรื่องยุ่งยาก จะต้องลงมือด้วยความง่าย จะให้เกิดผลสำเร็จในงานใหญ่ ต้องทำจากงานเล็ก งานที่ลำบาก ต้องทำตั้งแต่งานง่าย เรื่องใหญ่ ทำแต่เรื่องเล็ก ฉะนั้น อริยบุคคลไม่ถือว่าตน (เป็นผู้ทำงาน) ใหญ่จึงเป็นผู้มีความสำเร็จในงานใหญ่

            รับปากง่าย ๆ เป็นผู้ไม่มีวาจาสัตย์ เห็นเรื่องง่ายเป็นเรื่องง่าย จะต้องประสบกับความลำบาก ฉะนั้น เมื่ออริยบุคคลประสบกับการงาน จะถือว่าเป็นการงานที่ลำบากไว้ก่อน ดังนั้นจึงไม่มีความลำบากในที่สุด

            เมื่อเหตุการณ์ปกติ ย่อมรักษาให้คงอยู่ได้ง่าย เมื่อเหตุการณ์ (ร้าย) ยังไม่เกิดขึ้น ย่อมจัดการ (ไม่ให้เกิด) ได้ง่าย

            สิ่งของที่เปราะอ่อน ย่อมหักได้ง่าย สิ่งของเบาเล็ก ย่อมปลิวกระจายได้ง่าย

            ต้องจัดการให้เรียบร้อยก่อนที่จะเกิดเหตุ ต้องเตรียมไว้ก่อนที่เหตุการณ์ร้ายจะเกิดขึ้น

            ต้นไม้ใหญ่ (ขนาดสองแขนยื่นออก) กอดรอบเติบโตขึ้นจากหน่อเล็ก ๆ หอสูง ๙ ชั้น ก่อขึ้นด้วยกองดินทีละกอง การเดินทางไปได้ตั้งพันลี้ (๓๐๐ ไมล์) เริ่มด้วยการเดินทีละก้าว

            การทำงานของคนเรา มักจะล้มเหลวเมื่อจวนเจียนจะสำเร็จผล แต่ถ้าหากมีความระมัดระวังเหมือนกับเวลาเริ่มงาน งานจะไม่ล้มเหลว 

            ผู้มีสัจจธรรมในโบราณกาลไม่สอนให้มีความฉลาดแคล่วคล่อง (ในเล่ห์เหลี่ยมชั้นเชิง) แต่สอนให้มีความเป็นธรรมชาติ 

            เหตุที่ราษฎรปกครองลำบาก ก็เพราะราษฎรมีเล่ห์เหลี่ยมมาก ฉะนั้น การใช้เล่ห์เหลี่ยมปกครองบ้านเมือง ย่อมเป็นภัยแก่บ้านเมือง 

            ปกครองบ้านเมืองโดยไม่ใช้เล่ห์เหลี่ยม เป็นบุญวาสนาของบ้านเมือง

            เมื่อมีความเข้าใจในหลักการทั้งสองอย่าง (คือใช้และไม่ใช้เล่ห์เหลี่ยม) ด้วยดีแล้ว จดจำการไม่ใช้เล่ห์เหลี่ยมไว้ ก็คือการมีคุณธรรมอันลึกซึ้ง ความลึกซึ้งของคุณธรรมนี้ มันช่างลึกซึ้งจริง ๆ 

            จงกลับไปสู่ความแท้จริงแห่งสรรพสิ่งและเหตุการณ์ แล้วอนุโลมไปตามธรรมชาติ

            แม่ทัพที่สามารถ ไม่แสดงตนว่าเป็นผู้กล้าหาญ นักรบที่สามารถไม่โกรธง่าย ๆ ผู้ที่รบชนะได้อย่างดีเยี่ยมนั้น คือผู้ที่ไม่ต้องรบ ผู้ที่บังคับบัญชาคนได้ดีเป็นผู้มีความอ่อนโยนต่อผู้น้อย นี่คือคุณธรรมอันไม่แย่งชิงอะไรจากใคร นี่เป็นพละกำลังของการบังคับบัญชาคนเป็นหลักที่ตรงกับหลักธรรมชาติ

            ผู้นำทัพ (ออกรบ) เคยกล่าวไว้ว่า “ข้าพเจ้าไม่กล้ารุก ข้าพเจ้าเป็นผู้ตั้งรับ ข้าพเจ้าไม่กล้ารุกไป (แม้แต่) ๑ ฉุ่น (๓ ซ.ม.) แต่ยอมถอย ๑ เฉียะ (๓๓ ซ.ม.)” นี่ก็หมายความว่าแม้จะมีแผนรบ แต่ก็เหมือนกับไม่มีแผนรบ มีมือจะโบก (สั่งให้รบ) ได้ แต่ก็เหมือนกับไม่มีมือจะโบก แม้จะผจญหน้ากับข้าศึกได้ แต่ก็เหมือนกับไม่มีข้าศึกที่จะผจญ แม้จะมีอาวุธรบก็เหมือนกับไม่มีอาวุธอยู่ในมือ 

            อันตรายใด ๆ ไม่มีอันตรายใด ๆ ที่ใหญ่ไปกว่าการดูหมิ่นข้าศึก การดูหมิ่นข้าศึก เกือบจะเท่ากับเสียแก้ว ๓ ประการไป (แก้ว ๓ ประการ คือ เมตตา ประหยัด ไม่กล้าอยู่หน้า (เป็นผู้นำ) คนทั้งหลาย) 

            ฉะนั้น ทัพทั้งสองที่รบกันอยู่ ทัพที่มีความเมตตาต้องเป็นทัพที่รบชนะอย่างแน่แท้

            ราษฎรไม่กลัวตาย เหตุใดจึงเอาความตายไปขู่ราษฎร หากราษฎรกลัวความตายจริง เมื่อจับคนทำผิดมาฆ่าเสียแล้ว จะมีใครกล้าทำผิดอีก

            ปกติ มีผู้ทำหน้าที่ฆ่าคนอยู่แล้ว หากไปฆ่าคนแทนผู้ที่มีหน้าที่ฆ่าเช่นนี้ ก็เหมือนกับไปผ่าไม้แทนช่างไม้ น้อยนักที่จะไม่ผ่าเอามือตนเองไปด้วย (เมื่อมีผู้พิจารณาโทษแล้ว ก็ไม่ควรไปก้าวก่าย เพราะผลร้ายอาจมาถึงตนเอง) 

            เหตุที่ราษฎรต้องอดอยาก ก็เพราะฝ่ายปกครองเก็บภาษีมากเกินไปราษฎรจึงอดอยาก

            เหตุที่ราษฎรปกครองยาก ก็เพราะฝ่ายปกครองทำไปด้วยอำนาจและทำผิด ฉะนั้น จึงปกครองยาก

            เหตุที่ราษฎรเห็นความตายเป็นเรื่องเล็กน้อยไม่สำคัญ ก็เพราะคนฝ่ายปกครองกินอยู่โอ่อ่า (แต่ราษฎรกินอยู่ด้วยความลำบาก) ราษฎรจึงเห็นความตายเป็นเรื่องเล็กน้อยไม่สำคัญ

            มีแต่ผู้สงบ เป็นอยู่ง่าย ๆ จึงเอาชนะคนที่กินอยู่โอ่อ่าได้

            อาณาจักรแคบเล็ก พลเมืองน้อย แม้จะมีอาวุธหลายประเภท แต่ก็ไม่ควรนำออกมาใช้ (เพื่อรบ) ไม่ให้ราษฎรเอาชีวิตไปเสี่ยงกับความตาย ไม่อพยพ (ราษฎร) ไปยังที่ไกล (เพื่อสร้างนครใหม่) 

            แม้จะมีรถมีเรือมาก แต่ไม่จำเป็นต้องนำมาใช้ แม้จะมีเกราะและอาวุธมาก ก็ไม่ (ให้) มีโอกาสไป 

            ราษฎรมีอาหารที่โอชา มีเครื่องนุ่งห่มที่สวยงาม ที่อยู่สุขสบาย ประเพณีดีงามรื่นเริง (ราษฎร) ในระหว่างนครที่ใกล้เคียงต่างมองเห็นกันได้ (เพราะไม่มีป้อมกำแพงกีดกัน) เสียงไก่ขันกับเสียงสุนัขเห่า ต่างได้ยินกัน ราษฎรตั้งแต่เกิดกระทั่งตาย ไม่เคยไปมาหาสู่กัน (เพราะต่างก็มีความสงบสุข)

--
- โปรดร่วมกัน เสวนา ถาม-ตอบ วันละ 1 กระทู้ สร้างความรู้ใหม่ได้ มหาศาล -
 
แนะนำ :
 
http://www.JobSiam.com : โปรโมชั่น*! ประกาศงานฟรี เพิ่มอีก 1 เดือน ถึง 31 มีนาคม 2553 นี้ เท่านั้น.
 
http://www.SiamHRM.com : สยามเอชอาร์เอ็ม ดอทคอม รวมพลคนทำงาน มากที่สุด
~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~
 
คุณได้รับข้อความนี้เนื่องจากคุณเป็นสมาชิกกลุ่ม Google Groups กลุ่ม "บริหารทรัพยากรมนุษย์ ประเทศไทย"
- หากต้องการโพสต์ ถึงกลุ่มนี้ ให้ส่งอีเมลไปที่ siamhrm@googlegroups.com
- หากต้องการยกเลิกการเป็นสมาชิกกลุ่ม ส่งอีเมลไปที่ siamhrm+unsubscribe@googlegroups.com (ยืนยัน การยกเลิกใน Email อีกครั้ง.)
- หากต้องการดูกระทู้ หัวข้อ HR โปรดไปที่กลุ่มนี้โดยคลิกที่ http://groups.google.co.th/group/siamhrm?hl=th&pli=1
- เนื่องจากสมาชิกมีจำนวนมาก สมาชิกทุกท่าน ควรอ่านกติกา มารยาท และใช้เมล์กรุ๊ปร่วมกัน อย่างสร้างสรรค์
~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~

ไม่มีความคิดเห็น: