เอามาให้อ่านกันแบบย่อๆ ครับ เป็นข้อเขียนของคุณ ปนัฎดา สังข์แก้ว
Managing Director and Learning Consultant
People Synergy Co.,Ltd.
HR & Personnel หมายถึง ฝ่ายทรัพยากรมนุษย์กับฝ่ายบุคคลนั่นเอง
ถ้ามองย้อนไปถึงยุคของการบริหารองค์กรในอดีต ใครที่เคยเรียนวิชานี้ ก็คงคุ้นเคยกับคำว่า 4M เป็นอย่างดี ซึ่ง 4M นี้ เป็นองค์ประกอบหลักที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินงานต่างๆ ประกอบไปด้วย Man (บุคลากร) Money (เงิน) Method (วิธีการ) และ Material / Machine (วัสดุอุปกรณ์ / เครื่องมือ)
จะเห็นได้อย่างชัดเจนเลยว่า Man หรือบุคลากรนั้น เป็นองค์ประกอบสำคัญอันดับแรกของการดำเนินงานทุกอย่างในโลก หากไม่มีคนเป็นตัวตั้ง เงิน (Money) ก็ไม่สามารถสำเนาตัวเองและเพิ่มปริมาณเองได้ วิธีการ (Method) ต่างๆ ในการผลิตหรือในการทำงานก็คงไม่ได้รับการพัฒนาปรับปรุงให้ดียิ่งขึ้น เครื่องจักร (Material / Machine) ก็คงไม่สามารถผลิตสินค้าออกมาเองได้เช่นกัน ดังนั้น...กระบวนการทุกอย่างจะไม่สามารถเกิดขึ้นได้เลยหากไม่เริ่มต้นที่ “คน” โดยเฉพาะอย่างยิ่งในองค์กรต่างๆ ที่ล้วนแล้วแต่มีกระบวนการผลิต กระบวนการทำงาน หรือแม้แต่กระบวนการคิดค้นและพัฒนา จึงปฎิเสธไม่ได้เลยว่า...คน คือ องค์ประกอบและปัจจัยที่สำคัญที่สุดที่จะขับเคลื่อนให้กระบวนการต่างๆ สามารถดำเนินไปได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ก่อนหน้านี้องค์กรอาจมอง “คน” แค่เพียงว่าเป็น “คน” เป็นหนึ่งในสี่ขององค์ประกอบในการดำเนินธุรกิจเท่านั้น ไม่ได้ให้น้ำหนักหรือจัดลำดับความสำคัญว่าอะไรควรให้ความสำคัญมากหรือน้อย กว่ากัน รู้เพียงว่าแค่ใส่ไปให้ครบทั้ง 4 อย่าง ก็ทำให้เครื่องจักรผลิตสินค้าออกมาขายให้กับลูกค้าได้ก็ดีพอแล้ว ซึ่งถ้าเป็นการดำเนินธุรกิจในอดีต ที่ลูกค้าไม่มีตัวเลือกมากนัก การผลิตไม่ได้เน้นที่คุณภาพแต่เน้นที่ปริมาณเป็นหลัก การเลียนแบบหรือการแข่งขันในตลาดมีไม่มาก หรือแม้แต่ความรับผิดชอบต่อสังคมไม่ใช่เรื่องสำคัญที่องค์กรต้องตระหนัก ในสถานการณ์เช่นนั้น ความคิดขององค์กรข้างต้นก็คงไม่เป็นปัญหาแต่อย่างใด
แต่ในสภาวการณ์ปัจจุบันไม่เป็นเช่นนั้น ตลาดมีการแข่งขันกันอย่างดุเดือด การลอกเลียนแบบสินค้าทำได้ง่ายแค่เพียงเสี้ยววินาที ด้วยความสามารถอันทรงพลังของเทคโนโลยีที่ได้รับการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ลูกค้ามีตัวเลือกมากขึ้น ลูกค้าให้ความสำคัญกับคุณภาพของสินค้าและบริการมากกว่าปริมาณ และที่สำคัญการตัดสินใจซื้อสินค้าและบริการของลูกค้า ไม่ได้มองแค่ตัวสินค้าและบริการเท่านั้น แต่ลูกค้ายังมองถึงความรับผิดชอบต่อสังคมขององค์กร รวมถึงคุณธรรมของผู้บริหารอีกด้วย
ความยากในการดำเนินธุรกิจจึงมีมากขึ้น ซับซ้อนมากขึ้น ถ้าอยากจะเป็นผู้นำในธุรกิจ รักษาฐานลูกค้าเก่าไว้ให้แน่น พร้อมกับสร้างลูกค้าใหม่อย่างต่อเนื่อง อยากทำกำไรให้ได้มากกว่าคู่แข่ง และต้องการสร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้เกิดขึ้นในใจของลูกค้าและสังคมภายนอก การให้ความสำคัญกับทั้ง 4M อย่างเท่าเทียมกันเหมือนเมื่อก่อนคงไม่เพียงพออีกแล้ว เงิน วิธีการ และวัสดุอุปกรณ์...ต้องได้รับการพัฒนาปรับปรุงให้ดีที่สุด เหมาะสมกับสภาวะปัจจุบันที่สุด และที่สำคัญต้องพัฒนาปรับปรุงอย่างต่อเนื่องและไม่หยุดด้วย สิ่งที่จะทำให้ทุกอย่างเกิดขึ้นได้ตามที่ต้องการก็คือ “คน” ดังนั้น คน...จึงถูกยกขึ้นมาเป็นองค์ประกอบสำคัญที่สุดในการดำเนินธุรกิจ เงิน วิธีการ และวัสดุอุปกรณ์จะพัฒนาหรือหยุดพัฒนาก็ด้วยความสามารถของคนในองค์กร หากองค์กรใดหาคนหรือสร้างคนที่เก่ง ฉลาด และดีได้มากกว่าองค์กรอื่น องค์กรนั้นย่อมมีสิทธิ์เป็นผู้ชนะในตลาดที่มีการแข่งขันกันสูงในปัจจุบันได้ ไม่ยาก ที่กล่าวมาทั้งหมด...เป็นที่มาของคำว่า “ฝ่ายทรัพยากรมนุษย์”
องค์กรที่เรียกฝ่ายที่ดูแลเกี่ยวกับบุคลากรของตนเองว่า “ฝ่ายทรัพยากรมนุษย์” แสดงว่า...องค์กรนั้นมองมนุษย์ (บุคลากร) เป็นทรัพยากรที่มีค่าสูงสุดขององค์กร เมื่อองค์กรมองเช่นนี้ นอกจากการให้เงินเดือน การให้วันลา ให้เครื่องมืออุปกรณ์การทำงานเท่าที่จำเป็นแก่พนักงาน รวมถึงสิทธิประโยชน์ขั้นต่ำต่างๆ เท่าที่กฎหมายกำหนดแล้ว องค์กรยังมอบสิ่งอื่นให้กับพนักงานอีกด้วย ไม่ว่าจะเป็นการฝึกอบรมพัฒนา กิจกรรมสันทนาการต่างๆ สวัสดิการและผลประโยชน์ที่นอกเหนือจากกฎหมายกำหนด เช่น โบนัส วันหยุดพิเศษ เงินรางวัลพิเศษ เป็นต้น
ทั้งหมดนี้คือสิ่งที่องค์กรที่ให้ความสำคัญกับพนักงานพึงทำ ซึ่งส่วนใหญ่เส้นที่แบ่งระหว่างคำว่า “ฝ่ายบุคคล” และ “ฝ่ายทรัพยากรมนุษย์” จะอยู่ที่เรื่องของการฝึกอบรมและพัฒนาเป็นหลัก ในปัจจุบันองค์กรใดที่ยังไม่มีการฝึกอบรมพัฒนาพนักงานอย่างจริงจัง ก็จะเรียกว่า “ฝ่ายบุคคล” แต่ถ้าองค์กรใดมีก็จะเรียกว่า “ฝ่ายทรัพยากรมนุษย์” ส่วนสวัสดิการ ผลประโยชน์หรือกิจกรรมต่างๆ ที่เพิ่มเข้ามานั้นเป็นสิ่งที่ตามมาทีหลัง
ในปัจจุบัน องค์กรใหญ่หลายๆ องค์กรที่ให้ความสำคัญกับพนักงานของตนเองมาก ด้วยการเพิ่มของแถมต่างๆ มากมายให้กับพนักงาน เพื่อดึงดูด จูงใจ และรักษาพนักงานให้เข้ามาอยู่และอยู่กับองค์กรนานๆ นั้น มักจะคิดและสรรหาชื่อฝ่ายที่ดูแลเกี่ยวกับพนักงานใหม่ ให้คลอบคลุมกับสิ่งที่องค์กรได้ทำและจัดให้กับพนักงานมากขึ้น บางองค์กรใช้คำว่า People Group ซึ่งหมายถึงกลุ่มงานที่รับผิดชอบเรื่องของคนทั้งหมด การเรียกแบบนี้ทำให้ชื่อนี้สามารถรองรับงานใหม่ๆ เกี่ยวกับคนที่จะพัฒนาและกลายพันธุ์ได้อีกหลายๆ งานในอนาคต นอกจากนี้คำว่า People ยังสื่อให้เห็นอีกว่า...องค์กรมองว่าพนักงานคือคนในครอบครัว นั่นเพราะ อีกความหมายของคำว่า People ก็คือ คนในครอบครัวนั่นเอง แล้วอย่างนี้พนักงานจะไม่รู้สึกดีและรักองค์กรได้อย่างไร และในอนาคตวิวัฒนาการของการบริหารงาน ทรัพยากรมนุษย์ก็จะให้ความสำคัญกับ “บุคลากร” เพิ่มมากขึ้นไปอีก ซึ่งจะพัฒนาจาก Human Resources ไปเป็น Human Capital Management หรือที่หลายคนในวงการ HR คุ้นเคยกันดีในชื่อย่อว่า HC
ทำไมถึงต้องพัฒนาไปเป็น HC ก็เพราะว่า “บุคลากรขององค์กร” ไม่ใช่เป็นแค่เพียง “ทรัพยากร” อย่างหนึ่งในกระบวนการดำเนินงานซะแล้วสิ แต่ HC จะมองไปถึงขั้นที่ว่า “บุคลากรขององค์กร” เป็น “ต้นทุน” ของกระบวนการเชียวล่ะ โดยคำจำกัดความของคำว่า “ทุนมนุษย์” หรือ (Human Capital - HC) ก็คือ เทคโนโลยี ความรู้ ทักษะ และความสามารถซึ่งติดตัวคนในองค์กร และมีความจำเป็นในการปฏิบัติงาน เช่น ทักษะเชิงเทคนิค นวัตกรรม ความคิดสร้างสรรค์ และสมรรถนะการเป็นผู้นำ เป็นต้น
HC จะมองว่า “บุคลากร” เป็นทรัพย์สิน (Asset) ขององค์กรที่มีสภาพเป็น “ทุน” (Human Capital) ซึ่งสำคัญยิ่งต่อการสร้างคุณค่าให้กับองค์กร หากองค์กรใดมีทุนมนุษย์ที่เหนือกว่า ก็จะสามารถยืนอยู่ในสถานะที่เหนือกว่าองค์กรคู่แข่งได้ทั้งในปัจจุบันและ อนาคต ดังนั้น ในอนาคตการบริหารทรัพยากรมนุษย์ก็จะให้ความสำคัญกับ “บุคลากร” มากยิ่งขึ้นไปอีก พนักงานทุกคนขององค์กรจะได้รับการดูแล รักษา และพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ด้วยเครื่องมือการบริหารต่างๆ มากยิ่งขึ้น เพราะ “บุคลากร” เป็นถึง “ต้นทุน” ไม่ใช่เพียงแค่เป็น “ทรัพยากร” ในกระบวนการดำเนินงานขององค์กรอีกต่อไปแล้ว
ทั้งหมดนี้คือความแตกต่างกันของคำว่า HC ในอนาคต HR ในปัจจุบัน และ Personnel ในอดีต... “แค่ ชื่อฝ่ายที่ต่างกันไม่สามารถทำให้พนักงานมีความรู้สึกต่อองค์กรเปลี่ยนไปได้ แน่นอน...หากเนื้องานในฝ่ายทรัพยากรมนุษย์ในวันนี้ยังเป็นเหมือนฝ่ายบุคคลใน อดีต”
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น