วันพุธที่ 4 พฤษภาคม พ.ศ. 2554

[SIAMHRM.COM :34614] RE: สอบถามประเด็นทางกฎหมายแรงงานเกี่ยวกับการหักค่าจ้าง

สวัสดีครับ อดิศร ครับ
  ประเด็นต้องมาทำความเข้าใจถึงคำว่าค่าจ้างก่อนครับ
ตามกฎหมายค่าจ้างก็คือสินจ้างต่างตอบแทนในการทำงานให้นายจ้าง หมายถึงว่า หากลูกจ้างไม่ได้มาทำงานให้นายจ้าง
นายจ้างก็ไม่จำเป็นต้องจ่ายค่าจ้างให้ก็ได้
  ส่วนการจ้างนั้น จะเป็นการจ้างที่ตกลงกับลูกจ้างว่า จ่ายให้เป็นรายเดือน หรือจ่ายให้เป็นรายวัน หรือจ่ายให้ตามช้ินงานหรือรายเหมานั้น
ก็คือสินจ้างต่างตอบแทนที่นายจ้างตกลงจ่ายให้เป็นประเภทไปตามความเหมาะสมของแต่ละกิจการ
ซึ่งถ้าลูกจ้างไม่ได้มาทำงานให้โดยไม่มีเหตุผลอันสมควร เช่นไม่มีกฎหมายบังคับให้นายจ้างต้องจ่าย เช่นวันหยุดประจำสัปดาห์สำหรับการจ่ายค่าจ้างประเภทรายเดือน
ที่นายจ้างต้องจ่าย หรือประเภทการจ้างแบบรายวันหรือรายเหมาชินงาน ที่วันหยุดประจำสัปดาห์นี้ นายจ้างไม่จำเป็นต้องจ่ายก็ได้
, วันหยุดตามประเพณี , วันหยุดพักผ่อนประจำปี ที่นายจ้างต้องจ่ายไม่ว่าเป็นประเภทการจ้างแบบใดก็ตาม หรือการลาประเภทต่าง ๆ ที่กฎหมายกำหรดให้นายจ้างต้องจ่าย
 วันหยุด วันลา  อย่างนี้ ถ้าลูกจ้างหยุดงานไป ก็ถือว่ามีกฎหมายรองรับแล้ว นายจ้างจะไม่จ่ายสินจ้างต่างตอบแทนแก่ลูกจ้างไม่ได้เด็ดขาด
ยกเว้นว่าในกฎหมายได้กำหนดว่าให้นายจ้างจ่ายเป็นจำนวนกี่วัน หรือจ่ายให้ตามข้อบังคับเี่ยวกับการทำงานของนายจ้าง ก็จะเป็นเงื่อนไขตามกฎหมายเช่นกัน
เช่น  หากลูกจ้างลาป่วยไปเกินกว่าสามสิบวัน วันที่ลาป่วยเกินกว่าที่กฎหมายกำหนดไว้เช่นนี้ นายจ้างไม่จำเป็นต้องจ่ายค่าจ้างให้ก็ได้ครับ เพราะกฎหมายเขียนไว้อย่างนั้น
เพื่อความเป็นธรรมทั้งสองฝ่าย  ซึ่งพนักงานที่นายจ้างจ่ายสินจ้างต่างตอบแทนเป็นรายเดือนก็เขาข่ายนี้ด้วยเช่นเดียวกันครับ  เราจะไม่เรียกว่าเป็นการหักค่าจ้างหรือหักเงินเดือน
แต่คำตามกฎหมายที่ถูกต้องคือไม่จ่ายค่าจ้างให้ในวันที่ลูกจ้างลาป่วยเกินสามสิบวันครับ แต่ถ้านายจ้างจะจ่ายให้ก็ถือว่าเป็นคุณต่อลูกจ้าง ก็ไม่ขัดต่อกฎหมายแต่อย่างใด
ในหลัการปกครองที่ดี นายจ้างก็ควรพิจารณาไปตามเหตุผลและมนุษยธรรมประกอบไปด้วย เช่นหากพนักงานมีประวัติป่วยเป็นประจำ เดี๋ยวเป็นโน่น เป็นนี่ พิสูจน์ก็ไม่ได้ว่าป่วยจริงหรือไม่
อย่างนี้ไม่สมควรจะจ่ายค่าจ้างในวันลาป่วยที่เกินสามสิบวัน  แต่หากพนักงานที่โดยปกติมีประวัติการทำงานที่ดี ไม่ค่อยลาป่วยมากผิดปกติ แต่เกิดเจ็บป่วยหรือเกิดอุบัติเหตุขึ้นมาและจำเป็นต้องพักรักษาตัวนานหน่อย อย่างน้ก็สมควรพิจารณาจ่ายให้ไปก็ได้ครับ เพื่อเป็นขวัญกำลังใจขชองคนในองค์กร
  การลากิจก็เข้าทำนองเดียวกันครับ สามารถพิจารณาไปตามหลักกฎหมายได้ตามข้างต้นนี้ครับ ซึ่งไม่ได้เป็นการขัดต่อมาตรา 76 ( 4 ) แต่อย่างใด นายจ้างไม่จ่ายค่าจ้างให้ตามมาตรา 57 และมาตรา 34 ได้เลยครับ  การลากิจและการลาป่วย หรือการลาอื่น ๆ นั้น จะมีเนื้อหาในแต่ละมาตรา กำกับกฎเกณฑ์อยู่แล้ว
  ส่วนในมาตรา 76 นั้นเป็นข้อห้ามมิให้นายจ้างหักค่าจ้าง ทุกประเภท ยกเว้นตามเงื่อนไขที่กำกับไว้ในวงเล็บต่าง ๆ ของมาตรา 76
ในในวงเล็บ 4 ของมาตรา 76 นั้น ก็คือข้อห้ามตามที่คุณเข้าใจอยู่แล้วครับ แต่ในวงเล็บ 4 ที่อาจจะตีความสับสนได้  อธิบายดังนี้ครับ
1. ขอให้ตัดประเด็นเรื่องของค่าจ้างในวันลา เช่นลาป่วยหรือลากิจออกไปได้เลยครับ ไม่เกี่ยวข้องกัน เพราะลาป่วยและลากิจนั้น กฎหมายเค้ามีมาตรา 32 มาตรา 57 มาตรา 34 กำกับอยู่ต่างหากแล้ว นายจ้างปฏิบัติไปตามนั้นให้ถูกต้องก็ไม่มีปัญหาครับ
2. ประเด็นที่นายจ้างบจะหักค่าจ้างลูกจ้างได้นั้น ในวงเล็บอื่น ๆ คงเข้าใจไม่ยาก แต่ในวงเล็บ 4 จะมีอยู่สองเรื่องหลัก ๆ ที่เขียนรวมกัน เพราะในทางปฏิบัติอาจเกี่ยวเนื่องกันได้
ได้แก่ 
  2.1 เรื่องเงินประกัน ซึ่งโดยพื้นฐานแล้วต้องเป็นไปตามมาตรา 10 และประกาศกฎกระทรวงเสียก่อน ถ่านายจ้างไม่ปฏิบัติตามมาตรา 10 ก็ถือว่าผิดกฎหมายตั้งแต่ต้นแล้ว
จึงจะไปหักค่าจ้างลูกจ้างไม่ได้ไม่ว่ากรณีใด ๆ ครับ  แล้วยังจะต้องืนเงินประกันนี้คืนให้ลูกจ้างทันทีพร้อมดอกเบี้ยอีกด้วย
แต่ถ้าเป้นไปตามมาตรา 10 แล้วอย่างถูกต้อง ถ้านายจ้างจะหักเงินประกันนี้ได้ ลูกจ้างก็จะต้องมีความผิด หรือบกพร่อง ปฏิบัติงานผิดพลาด โดยได้ปฏิบัติงานด้วยความประมาทอย่างร้ายแรง ทำให้ทรัพย์สินของนายจ้างได้รับความเสียหายหรือสูญหาย อย่างนี้นายจ้างจะหักหรือริบเงินประกันนั้นได้ แต่ลูกจ้างต้องยินยอมเท่านั้น และนายจ้างต้องหักได้ไม่เกินมูลค่าความเสียหายหรือไม่เกินวงเงินประกันตามกฎหมายที่กำหนดไว้ด้วยครับ ไปเกินกว่านั้นไม่ได้  
  2.2 กรณีที่ไม่เกี่ยวข้องกับเงินประกัน ่นพนักงานที่นายจ้างไม่ได้เรียกเก็บเงินประกันไว้ตั้วแต่เริ่มจ้างตามมาตรา 10
นายจ้างจะหักค่าจ้าง เงินเดือนลูกจ้างตามขอยกเว้นในมาตรา 76 ( 4 ) ก็ต่อเมื่อ นายจ้างมีหลักฐานว่าลูกจ้างได้ปฏิบัติงานด้วยความประมาทอย่างร้ายแรง เป็นเหตุให้ทรัพย์สินนายจ้างเสียหาย
หรือสูญหาย  ( คำว่าประมาท กับประมาทอย่างร้ายแรงก็มีความแตกต่างกันเวลาวินิจฉัยด้วยนะครับ ตัวอย่างเช่นหากพนักงานนำ NOTE BOOK ซึ่งเป็นทรัพย์สินของนายจ้าง เอาไว้ในรถยนต์
เนื่องจากต้องใช้ทำงานนอกสถานที่ ถ้า NOTE BOOK นั้นถูกโจรกรรมจากรถยนต์ไป ก็ต้องมาดูว่า ลักษณะของการโจรกรรมนั้น เป็นการประมาท หรือประมาทอย่างร้ายแรงด้วย
ตัวอย่างในการพิจารณา เช่น หากพนักงานนำ รถยนต์ไปจอดไว้ในที่จอดรถของสถานที่ใดสถานที่หนึ่ง และล็อครถไว้แล้ว แต่รถยนต์ได้ถูกงัดแงะ และ โจรกรรม ทรัพย์สินไป
อย่างนี้ยังไม่ถือว่าเข้าข่ายประมาทอย่างร้ายแรง นายจ้างจะไปหักค่าจ้างหรือริบเงินประกันลูกจ้างตามข้อยกเว้นในมาตรา 76 ไม่ได้ครับ แต่หากว่าพนักงาน เอารถไปจอดไว้ แต่ไม่ได้ล็อคให้เรียบร้อย ไม่มีร่องรอยของการงัดแงะแต่อย่างใด อย่างนี้ก็ถือว่าประมาทอย่างร้ายแรงครับ )
 นายจ้างหักค่าจ้างได้ครับ
   แต่การหักค่าจ้างในกรณีนี้มีเงื่อนไขตามมาตรา 76 อยู่อีกว่า นายจ้างจะหักได้ไม่เกิรร้อยละสิบของค่าจ้างัจจุบันที่ลูกจ้างได้รับ และลูกจ้างต้องยินยอมเท่านั้นนะครับ จึงจะหักค่าจ้างได้
ถ้าลูกจ้างไม่ยินยอมก็ไม่ได้ครับ
 
   ข้างต้นทั้งหมดนี้ คงเข้าใจเรื่องของมาตรา 76 รวมทั้งเรื่องของค่าจ้างในวันหยุด วันลาแล้วนะครับ  เวลาทำความเข้าในกฎหมายมาตรา ต่าง ๆ ต้องแยกออกมาเป็นแต่ละมาตรา เพื่อใช้ในแต่ละเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นครับ จะได้ไม่สับสน
 
  ส่วนเรื่องการที่เราพบพนักงานที่เคยแจ้งลาป่วยไว้ แต่ไปพบว่าไม่ได้ป่วยจริง   จะไม่เกี่ยวข้องกับมาตรา 32 การลาป่วย หรือมาตรา 34 การลากิจ หรือมาตรา 57 ค่าจ้างในวันลาป่วยเลยครับ
ไม่ต้องไปคิดเรื่องที่ว่า พนักงานจะได้รับค่าจ้างหรือไม่อย่างไรเลยครับ ตัดประเด็นไปเลย เพราะถ้าเหตการณ์เป้นอย่างที่ว่ามานี้ ก็จะไปเข้าข่าย มาตรา 108 ที่ว่าด้วยเรื่องของข้อบังคับเก่ยวกับการทำงาน ว่านายจ้างกำหนดกฎเกณฑ์หรือระเบียบปฏิบัติในการลาป่วยลากิจ โดยชอบด้วยกฎหมายเอาไว้ว่าอย่างไร และมาตรา 119 เรื่องของวินัยร้ายแรงที่นายจ้างเลิกจ้างลูกจ้างโดยไม่จ่าย่าชดเชยได้แล้วครับ
    การที่พนักงานแจ้งลาป่วย แต่ไม่ได้ป่วยจริง หรือลากิจแต่ไม่ปฏิบัติตามระเบียบที่นายจ้างกำหนดไว้โดยชอบด้วยกฎหมายนั้น ก็คือความผิดทางวินัยที่นายจ้างพิจารณาโทษได้ทันทีครับ
และนายจ้างก็มีสิทธิที่จะไม่จ่ายค่าจ้างให้ลูกจ้างได้อีกด้วย ( ไม่ได้เป็นการหักค่าจ้างนะครับ แต่นายจ้างไม่จ่ายค่าจ้างให้เนื่องจากลูกจ้างหยุดงานไปโดยไม่มีเหตุผลอันสมควร )
โทษจะหนักหรือเบานั้น ก็ขึ้นอยู่กับเจตนาของลูกจ้างรวมทั้งประวัติการทำงานของลูกจ้างครับ หรือถ้าจะเลิกจ้างเลยก็ต้องเข้าข่ายมาตรา 119 (1 ) ทุจริตต่อหน้าที่ครับ
อย่างการณ๊ที่ลูกจ้างลาป่วยไป โดยมีหลักฐานว่า ไม่ได้ป่วยจริงอย่างนี้ เข้าข่าย 119 ( 1 ) ได้ครับ เพราะเป็นการแสวงหาผลประโยชน์อันมิควรได้ แต่ต้องมาดูอีกครับ ว่า ลูกจ้างได้รับค่าขจ้างในวันลาป่วยไปด้วยหรือไม่ และมีเจตนาอย่างไร มีเหตุผลที่รับฟังได้หรือไม่ ถ้าได้รับค่าจ้างด้วย อย่างนี้ เลิกจ้างตามมาตรา 119 ได้เลยครับ แต่ถ้าไม่ได้รับค่าจ้างก็ยังจะถือว่าทุจริตต่อหน้าที่ไม่ได้ เพราะลูกจ้างไม่ได้มีผลประโยชน์ที่ชัดเจนนัก
แต่อย่างน้อยที่สุด นายจ้างควรพิจารณาโทษด้วยการตักเตือนเป็นหนังสือและอธิบายให้ลูกจ้างเข้าใจด้วย จะได้ไม่กระทำผิดซ้ำอีก
 
อดิศร
 
 

From: hr3csr@hotmail.com
To: siamhrm@googlegroups.com; adisorn_pers@hotmail.com
Subject: สอบถามประเด็นทางกฎหมายแรงงานเกี่ยวกับการหักค่าจ้าง
Date: Wed, 4 May 2011 15:17:22 +0700

เรียน ท่านอดิศร ที่นับถือ
        ผมมีประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการหักค่าจ้างพนักงาน ซึ่งมีหลักกฎหมายที่เกี่ยวข้องหลายฉบับ แต่ที่เป็นประเด็นปัญหาหลัก คือ ตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 และที่แก้ไขเพิ่มเติม โดยตามมาตรา 76 ที่ห้ามนายจ้างหักค่าจ้าง ค่าล่วงเวลา ค่าทำงานในวันหยุด และค่าล่วงเวลาในวันหยุด เว้นแต่เป็นการหักเพื่อชำระภาษี ชำรุงค่าบำรุงสหภาพแรงงาน หักเป็นเงินสะสม หรือชำระหนี้สหกรณ์ ชำระเป็นเงินประกันหรือชดใช้ความเสียหาย ซึ่ง 2 กรณีหลังต้องได้รับความยินยอมจากลูกจ้าง เท่านั้น กรณีอื่นมิได้กล่าวถึง หมายความว่าห้ามมิให้นายจ้างหักเลย แม้นว่าลูกจ้างนั้นจะยินยอม
        กรณีที่ีมีปัญหาในองค์กรของผม เป็นเรื่องของการที่ลูกจ้างลาเกินสิทธิการได้รับค่าจ้างในวันลา กล่าวคือ ตามกฎหมายคุ้มครองแรงงาน และระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานขององค์กร กำหนดวันลาที่ให้ได้รับค่าจ้างระหว่างลาไว้แล้ว อันได้แก่ ลาป่วยโดยได้รับค่าจ้างไม่เกิน 30 วันทำงาน ลากิจโดยได้รับค่าจ้างไม่เกิน 7 วันทำงาน ลาไปอบรมหรือพัฒนาความรู้ไม่เกิน 30 วัน เป็นต้น แต่เกิดกรณีพนักงานลากิจ หรือลาป่วย เกินจำนวนวันดังกล่าว ซึ่งตามตรรกและมาตรฐานการทำงาน หน่วยงานอาจให้ลาได้ตามเหตุผลและความจำเป็น แต่ควรเป็นการลาโดยไม่ได้รับค่าจ้างในวันที่ลานั้น (ในส่วนใหญ่แล้ว ลากิจกับลาป่วย มีลักษณะและเหตุผลการลาที่ต่างกัน เช่น หยุดงานและโทรศัพท์แจ้งลาป่วย โดยส่งใบลาวันทำงานถัดไป แต่มีผู้พบว่าเดินทางไปสถานที่ท่องเที่ยวต่างจังหวัด พอสอบถามก็บอกว่า ไม่ได้วางแผนไว้ล่วงหน้าที่จะลากิจตามระเบียบ จึงใช้การลาป่วย)
        ในประเด็นดังกล่าว ส่วนที่เป็นพนักงานรายวัน ก็ไม่มีปัญหา  สำหรับพนักงานรายเดือน จะทำอย่างไรครับ จะเป็นการลาโดยไม่ได้รับค่าจ้าง ก็ต้องมีการหักค่าจ้าง เช่น กรณี 1 วัน ลูกจ้างเงินเดือน 9,000 บาท ก็ควรหัก 9,000/30 = 300 บาท   เหลือ 8,700 บาท     แต่มีข้อทักท้วงคือ จะหักอย่างไร มีกฎหมายใด เพราะหากยกกฎหมายคุ้มครองแรงงานดังที่กล่าวข้างต้นมาต่อสู้ นายจ้างไม่มีอำนาจหัก หรือต้องแจ้งให้ลูกจ้างนำค่าจ้างที่ได้รับนั้นมาคืน 300 บาท
        จึงเรียนมาเพื่อโปรดพิจารณาให้ความรู้หรือคิดเห็นทางการปฏิบัติงานบริหารทรัพยากรบุคคล ที่จะชี้แจงให้ผู้บริหารและฝ่ายบัญชีมีความเห็นเดียวกัน หรือกรณีอื่นที่คล้ายคลึง ซึ่งในหน่วยงานของท่านได้ปฏิบัติเป็นอย่างไรครับ หวังเป้นอย่างยิ่งว่าคงจะได้รับความกรุณาให้ความรู้เป็นวิทยาทานอีกครั้งหนึ่ง จึงขอขอบพระคุณมา ณ โอกาสนี้ด้วย
        ขอแสดงความนับถือ
        ฝ่ายทรัพยากรบุคคล กลุ่มบริษัทที่จัดตั้งขึ้นใหม่


ไม่มีความคิดเห็น: