วันจันทร์ที่ 22 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2553

[SIAMHRM.COM :23818] ::: ดุแบบสร้างบารมี...ทำอย่างไร ?



ดุแบบสร้างบารมี...ทำอย่างไร ?

คอลัมน์ องค์กรแห่งการเรียนรู้และการจัดการความรู้

โดย ผศ.ดร.มงคลชัย วิริยะพินิจ Mongkolchai@acc.chula.ac.th

ใน ฐานะที่ผมสนใจและใส่ใจในเรื่องการศึกษาวิจัยในเรื่องเกี่ยวกับองค์กรแห่งการ เรียนรู้และการจัดการความรู้นั้น จึงคิดว่าได้ย้ำกับท่านผู้อ่านมาไม่มากก็น้อยผ่านทางการเขียนบทความที่ผ่าน มาว่า บทบาทของผู้นำในองค์กรนั้นมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการจัดการความรู้ใน องค์กรอย่างที่ให้เกิดประสิทธิผล และต่อการพัฒนาองค์กรไปสู่การเป็นองค์กรแห่งการเรียนรู้ และการให้คุณให้โทษกับผู้ใต้บังคับบัญชาก็ถือเป็นหน้าที่หลักของผู้นำหรือ เจ้านายในองค์กรที่ต้องทำให้ถูกต้องและเหมาะสม

มาในวันนี้ผมขอเน้น ที่จะเขียนกล่าวถึงเรื่องของการให้โทษ เพื่อให้สอดคล้องกับชื่อของบทความนี้กับคำถามที่ว่า ผิดไหมที่จะ "ดุ" ลูกน้อง และเป็นที่แน่นอนที่ผมจะบอกว่า "ไม่ผิด" เพราะการดุลูกน้องถือเป็นการให้โทษลูกน้องวิธีหนึ่ง ที่คนที่เป็นเจ้านายคนหนึ่งพึงจะกระทำ แต่ที่ผมต้องเน้นเขียนเรื่องการดุลูกน้องนี้ ก็เพราะว่าในสังคมไทยนั้น การที่ใครสักคนโดนดุถือเป็นเรื่องใหญ่ เพราะสังคมไทยเป็นสังคมที่เกรงใจกัน ประนีประนอมกัน ไว้หน้าไว้ตาซึ่งกันและกัน เพราะฉะนั้นถ้าไม่เหลือบ่ากว่าแรงก็คงจะไม่ออกปากดุกัน ลูกน้องบางคนอาจรับไม่ได้และพานจะไม่เข้าใจว่าทำไมถึงโดนดุ และทำให้รู้สึกไม่ดีกับเจ้านาย เพราะตั้งแต่เกิดมาไม่เคยโดนดุ พ่อแม่เลี้ยงมาด้วยความทะนุถนอม เจอลูกน้องอย่างนี้เจ้านายบางคนก็ลำบากใจเหมือนกัน

อย่างไรก็ดี ผมขอแนะนำว่า ถ้าจำเป็นจะต้องดุลูกน้องก็ขอให้ดุไป แต่โปรดอย่าดุแบบใช้อำนาจ หรือใช้อารมณ์ แต่ขอให้เป็นการดุแบบสร้างบารมี การดุทั้งสองประเภทนี้แตกต่างกันโดยสิ้นเชิง ซึ่งถ้าท่านผู้อ่านยังไม่เห็นภาพถึงความแตกต่างให้ลองจินตนาการดูว่า ถ้าท่านผู้อ่านโดนใครสักคนหนึ่งดุแล้วมีความรู้สึกอยากดุกลับ ถ้าเป็นอย่างนี้ก็จะเป็นการสะท้อนให้เห็นว่าท่านโดนดุโดยคนที่ใช้อำนาจและ อารมณ์เป็นใหญ่ในการบริหารคน แต่ถ้าท่านโดนดุและหลังจากที่โดนดุท่านได้เก็บคำดุมาพิจารณาต่อให้กลายเป็น บทเรียน อันนี้ผมถือว่าผู้ที่ดุท่านนั้นมีวิธีการดุแบบสร้างบารมี

การ ดุแบบสร้างบารมีนั้นมิใช่เรื่องยาก เพราะการเป็นผู้มีบารมีนั้นก็คือการเป็นที่รัก (อย่างจริงใจ) ที่ให้เกียรติ (อย่างจริงใจ) ที่สรรเสริญ (อย่างจริงใจ) ของคนทั่วไป ที่ต้องใส่วงเล็บคำว่า ความจริงใจ ลงไปในที่นี้ ก็เพราะว่าต้องการชี้ให้เห็นถึงความแตกต่างระหว่างคำว่า "อำนาจ" กับ "บารมี" เพราะถ้าเกิดผมเอาวงเล็บออกจะแสดงให้เห็นถึงการเป็นผู้มีอำนาจมากกว่าเป็น ผู้มีบารมีทันที อย่างไรก็ดีท่านผู้อ่านคงจะสงสัยว่า แล้วการดุแบบสร้างบารมีนั้นทำอย่างไร โดยเฉพาะในฐานะของการเป็นเจ้านาย การดุแบบสร้างบารมีนั้นทำได้ไม่ยาก การดุแบบสร้างบารมีเป็นการดุอย่างที่ก่อให้เกิดผลการทำงานที่ดี และก่อให้เกิดพัฒนาการในการทำงาน เมื่อการดุนั้นเกิดสัมฤทธิผล เจ้านายก็จะรู้สึกดีที่ลูกน้องทำงานจนก่อให้เกิดผลลัพธ์ตามเป้าหมายที่ได้ วางไว้ ส่วนลูกน้องก็จะเกิดความสุขใจที่ได้พัฒนาศักยภาพในการทำงาน

ใน ฐานะเจ้านาย การดุแบบสร้างบารมีคือการพูดจาอย่างตรงไปตรงมากับลูกน้องด้วยความจริงใจและ ใส่ใจ ซึ่งถือเป็นศิลปะอย่างหนึ่งในการเป็นเจ้านาย เจ้านายควรใช้น้ำเสียงที่แสดงให้เห็นถึงความจริงจังโดยที่ปราศจากอารมณ์โกรธ ในการพูดมากกว่าที่จะใช้น้ำเสียงที่แสดงให้เห็นถึงความสะใจที่มักจะมาพร้อม กับอารมณ์โกรธ เจ้านายควรเริ่มดุด้วยการอธิบายก่อนว่า อะไรเป็นสาเหตุที่จะต้องเรียกลูกน้องมาว่ากล่าวตักเตือน เจ้านายจะต้องอธิบายให้ลูกน้องเห็นว่าสิ่งที่ว่ากล่าวตักเตือนนั้นมีผลอย่าง ไร หรือสำคัญอย่างไรต่อหน้าที่การงาน หรือความสามารถในการทำงานของลูกน้อง เจ้านายจะต้องอธิบายให้ลูกน้องเห็นว่า เมื่อลูกน้องสามารถปรับปรุงพฤติกรรมหรือสิ่งต่างๆ ที่เป็นต้นเหตุของการถูกดุแล้วจะส่งผลดีต่อลูกน้องอย่างไรบ้าง และต้องไม่ลืมที่จะถามความคิดเห็นของลูกน้องว่าคิดอย่างไรกับที่สิ่งที่ได้ ดุไป หรือว่าลูกน้องมีอะไรที่จะอธิบายหรือไม่ และเจ้านายควรตั้งใจฟังลูกน้องและนำสิ่งที่ลูกน้องได้กล่าวอธิบายมาแสดงความ คิดเห็นต่อยอดเพื่อให้เกิดความเข้าใจตรงกันก่อนที่ลูกน้องจะลุกเดินจากไป

การ ดุตามแนวทางดังกล่าวเป็นการช่วยเสริมสร้างบารมีของเจ้านาย เพราะลูกน้องสามารถรู้สึกได้ว่าเจ้านายดุด้วยความเอาใจใส่ ไม่ใช่ดุด้วยความรู้สึกที่สักแต่ว่าดุ ดุด้วยความไม่พอใจ หรือดุเพื่อให้ได้มาซึ่งงานที่สำเร็จลุล่วงตามที่ได้มอบหมายไว้เท่านั้น แต่เป็นการดุที่เสริมสร้างการใฝ่รู้ในการทำงานของลูกน้อง การดุด้วยวิธีดังกล่าวจะทำให้ลูกน้องเกิดความกระตือรือร้นในการทำงานด้วย ความเต็มใจและความสมัครใจ และเป็นผลให้ลูกน้องสามารถปรับทัศนคติในการทำงานที่ไม่ใช่สักแต่ว่าทำให้ เสร็จๆ ไปวันๆ แต่ให้เกิดการเรียนรู้และพัฒนาการในการทำงาน และในที่สุดลูกน้องก็จะรู้สึกดี รู้สึกให้เกียรติและเคารพในคำพูดของเจ้านาย แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นการสร้างบารมีในตัวเจ้านายเป็นเรื่องที่ต้องใช้เวลา เกิดจากการบังคับบัญชาด้วยการเอาใจลูกน้องมาใส่ใจตน หรือเรียกได้ว่าเป็นการบริหารคนด้วยความเอาใจใส่

เพราะฉะนั้นใน สำนวนไทยที่ว่า รักวัวให้ผูก รักลูกให้ตี นั้นผมถือว่าเป็นสิ่งที่ไม่ขัดต่อเรื่องขององค์กรแห่งการเรียนรู้และการ จัดการความรู้ ผมคิดว่าท่านผู้อ่านคงเคยโดนคุณพ่อคุณแม่ดุว่ากล่าวตักเตือน หรือแม้กระทั่งโดนตีในสมัยเด็กๆ กันมาบ้าง จนทุกวันนี้คิดว่าทุกท่านคงจะไม่โกรธที่คุณพ่อคุณแม่ดุว่าหรือตีในวัยเด็ก เพราะทุกท่านก็เข้าใจว่าคุณพ่อคุณแม่กระทำไปด้วยความหวังดี ด้วยความรัก ด้วยความเอาใจใส่ การทำโทษเหล่านั้นเป็นการอบรมสั่งสอนเพื่อให้ลูกเรียนรู้ว่าสิ่งใดที่ถูก หรือผิด และให้มีพฤติกรรมที่เหมาะสม และรักดี รักความก้าวหน้า และพัฒนาตนเองจนเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่มีคุณภาพ จวบจนทุกคนก็อดที่จะตระหนักมิได้ว่า คุณพ่อคุณแม่คือผู้มีบารมีในใจเราทุกคนเสมอมา

และผมก็ไม่เห็นความ แตกต่างเลยที่ท่านทั้งหลายในฐานะเจ้านายจะนำแนวคิดหรือแนวทางของการปกครอง ลูกมาประยุกต์ใช้กับการปกครองลูกน้อง เพราะพ่อแม่ทุกคนปกครองลูกด้วยความรักและความเอาใจใส่ ในที่สุดเมื่อลูกได้ดีมีความกตัญญูรู้คุณ ก็จะประกอบสิ่งดีงามเพื่อตอบแทนพระคุณพ่อพระคุณแม่ ลูกน้องก็เช่นกัน เมื่อรู้ว่าเจ้านายปกครองด้วยความเอาใจใส่ ด้วยความหวังดีและจริงใจก็จะมีใจที่จะขยันหมั่นเพียรตั้งใจทำงานและให้ความ ร่วมมือในการทำงานอย่างเต็มที่และสมัครใจ ก่อให้เกิดผลการทำงานที่ดี และความสัมพันธ์อันดีระหว่างเจ้านายและลูกน้อง

และเนื่องในวันแม่แห่งชาติปีนี้ จึงอยากให้ทุกท่านร่วมกันรำลึกถึงความรัก และความเอาใจใส่ที่คุณแม่ทุกคนมีให้กับลูกนะครับ

--
- ร่วมกัน เสวนา ถาม-ตอบ วันละ 1 กระทู้ สร้างความรู้ใหม่ได้ มหาศาล -
 
แนะนำ :
 
http://www.JobSiam.com : โปรโมชั่น*! ต้อนรับปีใหม่ สำหรับนักสรรรหามืออาชีพ พร้อมรับส่วนลด มากมาย ถึง 28 กุมภาพันธ์ 2553 นี้ เท่านั้น
 
http://www.SiamHRM.com : สยามเอชอาร์เอ็ม ดอทคอม รวมพลคนทำงาน มากที่สุด
~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~
 
คุณได้รับข้อความนี้เนื่องจากคุณเป็นสมาชิกกลุ่ม Google Groups กลุ่ม "บริหารทรัพยากรมนุษย์ ประเทศไทย"
- หากต้องการโพสต์ ถึงกลุ่มนี้ ให้ส่งอีเมลไปที่ siamhrm@googlegroups.com
- หากต้องการยกเลิกการเป็นสมาชิกกลุ่ม ส่งอีเมลไปที่ siamhrm+unsubscribe@googlegroups.com (ยืนยัน การยกเลิกใน Email อีกครั้ง.)
- หากต้องการดูกระทู้ หัวข้อ HR โปรดไปที่กลุ่มนี้โดยคลิกที่ http://groups.google.co.th/group/siamhrm?hl=th&pli=1
- เนื่องจากสมาชิกมีจำนวนมาก สมาชิกทุกท่าน ควรอ่านกติกา มารยาท และใช้เมล์กรุ๊ปร่วมกัน อย่างสร้างสรรค์
~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~

ไม่มีความคิดเห็น: