วันพฤหัสบดีที่ 6 สิงหาคม พ.ศ. 2552

[SIAMHRM.COM :15588] Re: รบกวนของคำปรึกษาเรื่องการหักเงินพนักงานกรณีมาทำงานสาย

สวัสดีครับ อดิศร ครับ

คำถามแรกที่ว่า ที่บริษัทฯของท่านเคยเป็นแบบนี้ไหม? ตอบว่าเคยครับ และใช้สารพัดวิธีในการแก้ไขการมาสายจนประสบผลสำเร็จ ขอแนะนำดังนี้ครับ

   การแก้ไขเรื่องนี้จะต้องใช้วิธีการสองอย่างควบคู่กันไปในการแก้ไขนะครับ

  

       1. มาตรการทางวินัย  ถ้าในองค์กรยังไม่มีกฎระเบียบนี้ก็ขอให้ออกประกาศไปนะครับ แต่ถึงแม้ไม่มีประกาศก็ไม่ได้เป็นอุปสรรคในการใช้มาตรการทางวินัย เพราะถึงอย่างไรในสถานประกอบกิจการจะกำหนดเวลาเริ่มงานและเลิกงานตามปกติไว้อยู่แล้วซึ่งสามารถนำมาอ้างอิงได้ครับ ส่วนการที่ผู้บริหารไม่มา implement ก็ไม่ได้เป็นอุปสรรคครับ เพราะสำหรับเรื่องนี้ ไม่ใช่หน้าที่ของท่าน แต่เป็นหน้าที่ของผู้บังคับบัญชาที่อำนาจกระทำการแทนนายจ้างซึ่งจะต้องทำหน้าที่นี้โดยตรงครับ

       ปัญหาอยู่ที่มาตรการทางวินัยควรจะทำอย่างไร ขอเรียนให้ทุกท่านรวมทั้งผู้บริหารทราบว่า

มาตรการทางวินัยที่หักค่าจ้างกรณีมาสาย ผิดกฎหมาย พรบ. คุ้มครองแรงงาน มาตรา 76 ครับ บทกำหนดโทษสำหรับนายจ้างกรณีนี้ก็เป็นโทษทางอาญา ตามมาตรา 144 จำคุกไม่เกินหกเดือนปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ

และที่สำคัญคือ มาตรการในการหักค่าจ้าง ไม่ได้แก้ปัญหาอะไรได้เลย เพราะพนักงานที่มีนิสัยมาสายเป็นประจำโดยไม่มีเหตุผลอันสมควรนั้น เค้าไม่แคร์หรอกครับ ว่าจะถูกหักค่าจ้างเท่าไร

มาตรการนี้จึงไม่ได้ผลและผิดกฎหมาย และถ้าลูกจ้างฟ้อง นายจ้างผิดเต็ม ๆ แพ้คดีแน่นอนครับ

มาตรทางวินัยที่นายจ้างทำได้อย่างถูกต้องคือ เริ่มจากการตักเตือนด้วยวาจาอย่างไม่เป็นทางการไปก่อน โดยให้ผู้บังคับบัญชาเป็นผู้ดำเนินการสอบถามถึงเหตุผลในการมาสายของลูกน้องตัวเอง

ถ้ามีเหตุผลที่ยอมรับได้ ก็ควรหาทางแก้ไขร่วมกันทั้งทีมนะครับ แต่ถ้าเป็นเหตุผลที่ไม่สมควรเช่นบ้านอยู่ไกล ก็ต้องตักเตือนกันและชี้แนะให้พนักงานปรับตัวให้มีความรับผิดชอบมากขึ้น รู้จักวางแผนให้ตัวเอง และเมื่อครั้งแรกเราได้ปฏิบัติอย่างนี้ไปแล้ว มีการตักเตือนกันด้วยวาจาอย่างไม่เป็นทางการไปแล้ว หากพนักงานยังมาสายอีกในครั้งต่อไป ก็ควรใช่มาตรการทางวินัยที่แรงขึ้นมาอีกระดับคือ การตักเตือนด้วยวาจาอย่างเป็นทางการ วิธีการก็คือทำอย่างครั้งแรก แต่มีการบันทึกความตกลงไว้เป็นเอกสารให้ชัดเจน ให้พนักงานลงนาม และผู้บังคับบัญชาลงนามไว้เป็นหลักฐานอย่างเป็นทางการนั่นเองครับ ถ้ายังสายอีก ก็ต้องใช้มาตรการที่แรงขึ้นไปอีกระดับ ด้วยการตักเตือนเป็นหนังสือ วิธีการนี้ทางบริษัทจะต้องมีหนังสือเตือนที่ถูกต้องตามกฎหมาย แล้วเราก็ใช้หนังสือเตือนนี้เป็นมาตรการลงโทษครับ มาตรการในขั้นนี้ถือว่ารุนแรงแล้วนะครับ เพราะเป็นการเริ่มเปิดทางให้นายจ้างใช้มาตรา 119 เลิกจ้างโดยไม่จ่ายค่าชดเชยได้แล้ว หากพนักงานยังคงมาสายเช่นเดิมอีก ซึ่งแสดงว่าพนักงานมีเจตนาฝ่าฝืน และทำให้นายจ้างได้รับความเสียหายได้ รวมทั้งนายจ้างได้ตักเตือนเป็นหนังสือเพื่อให้โอกาสแล้ว แต่พนักงานไม่ใส่ใจในการแก้ปัญหา นายจ้างจึงมีอำนาจในการเลิกจ้างได้ทันทีโดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยครับ ซึ่งหากจะให้โอกาสอีกสักครั้งเป็นครั้งสุดท้ายก็แล้วแต่นายจ้างจะพิจารณาลดหย่อนผ่อนโทษให้เป็นการพิจารณาสั่งพักงานโดยไม่จ่ายค่าจ้างให้ก็ได้ครับ อาจจะสั่งพักไปสามวัน ห้าวัน หรือเจ็ดวันก็แล้วแต่ แต่นายจ้างจะต้องพิจารณาให้เสมอภาคนะครับ ในกรณีเดียวกันต้องพิจารณาพักงานในจำนวนวันที่เท่ากันครับ

  วิธีการนี้ขอบอกว่าได้ผลกว่าการไปหักค่าจ้าง เพราะพนักงานกลัวการถูกเลิกจ้างครับ และไม่ขัดต่อกฎหมาย นายจ้างมีสิทธิตามมาตรา 119 ครับ

    ในกรณีที่จะให้มีผลในเรื่องของค่าจ้างหรือค่าตอบแทนด้วยนั้นก็ทำอย่างถูกกฎหมายได้ครับ

เพราะในสัญญาจ้างแรงงาน ค่าจ้างคือ สินจ้างต่างตอบแทนในการทำงาน หมายถึงว่าหากลูกจ้างมาทำงานก็ต้องได้รับค่าจ้างแต่ถ้าลูกจ้างไม่ได้มาทำงานโดยไม่มีเหตุผลอันสมควรเช่นขาดงาน หรือมาสายนั้น นายจ้างก็ไม่จำเป็นต้องจ่ายค่าจ้างให้ลูกจ้างครับ แต่อัตราที่นายจ้างจะไม่จ่ายค่าจ้างในกรณีนี้ จะต้องคำนวณอัตราให้ถูกต้อง เช่นถ้ามาสายครึ่งชั่วโมง นายจ้างไม่จำเป็นต้องจ่ายค่าจ้างในช่วงครึ่งชั่วโมงที่ลูกจ้างไม่ได้มาทำงานให้ก็ได้ครับ ต้องคำนวณจากฐานเงินเดือนของลูกจ้างคนนั้นว่าครึ่งชั่วโมงเป็นเงินเท่าไร แล้วนายจ้างไม่จำเป็นต้องจ่ายค่าจ้างให้ก็ได้ เพราะไม่ถือว่าเป็นการหักค่าจ้าง

      2.มาตรการทางสังคม  ตรงนี้ถือว่าเป็นหัวใจของการป้องกันปัญหาครับ เพราะมาตรการทางวินัยนั้นเหตุการณ์ได้เกิดขึ้นแล้วและใช้มาตรการทางวินัยมาป้องปรามไม่ให้เกิดซ้ำ ซึ่งนายจ้างได้รับความเสียหายไปเรียบร้อยแล้ว แต่มาตรการทางสังคมเป็นการป้องกันไม่ให้เกิดตั้งแต่แรก

        มีสารพัดวิธีครับ แต่หัวใจคือ

    1.  ตัวผู้บังคับบัญชาต้องมาเล่นเรื่องนี้ให้ชัดเจน หากลูกน้องตัวเองมาสายให้ผู้บังคับบัญชาดูที่ตัวเองก่อนครับ ว่าตัวเราเองเป็นอย่างไร ปกครองลูกน้องโดยการใช้จิตวิทยาหรือไม่ แน่นอนครับหากผู้บังคับบัญชาไม่มีวินัยในการทำงานกับลูกน้อง ลูกน้องก็จะเหลวไหลตาม  ถ้าเรามาสาย ลองดูสิครับ ซักระยะหนึ่งก็ได้ ลูกน้องก็จะมาสายตามเรา ถ้าเราลางานบ่อย ๆ เดี๋ยวป่วยเดี๋ยวมีกิจธุระ ลูกน้องก็จะป่วยบ่อย หรือลากิจบ่อยเพราะเป็นโรคติดต่อครับ  อันดับแรก ผู้บังคับบัญชาต้องมีวินัยที่เข้มงวดให้ตัวเองก่อนครับ เป็นตัวอย่างที่ดีให้ลูกน้อง

เวลาเราว่ากล่าวตักเตือนจะได้พูดกับเค้าได้เต็มปาก กรณีนี้ทั้งองค์กรนะครับ ไม่ใช้เฉพาะคนใดคนหนึ่งเท่านั้น อีกประการหนึ่งคือคนที่ทำงานฝ่าย HR ทุกคนก็เช่นเดียวกันครับ ทั้งเจ้านายและลูกน้องทีทำงาน HR จะต้องมีวินัยที่เข้มงวดเป็นตัวอย่างให้ทุกๆ คนได้ เช่นกันครับ

2.       เรื่องต่อมาหากในขั้นตอนแรกเรามีข้อตกลงกันอย่างนี้และปฏิบัติตามนี้ได้แล้ว กรณีที่พนักงานคนใดมาสาย ขอให้มีการพิจารณาหาสาเหตุก่อนพิจารณาตัดสินใช้มาตรการทางวินัยทุกครั้งครับ ทั้งนี้เพื่อความเป็นธรรม เพราะพนักงานบางท่านเค้าก็อาจมีเหตุจำเป็นจริง ๆ ที่ไม่สามารถมาทำงานตรงตามเวลาได้ และเหตุผลที่แท้จริงคืออะไร เป็นสิ่งที่ผู้บังคับบัญชาพนักงานคนนั้นจะต้องรับผิดชอบในการค้นหาสาเหตุ เช่นหากมีความจำเป็นที่เค้าจะต้องดูแลพ่อแม่หรือลูกที่เจ็บป่วยอยู่ อันนี้ก็จำเป็นครับ และผู้บังคับบัญชาจะต้องให้ความช่วยเหลือไปตามสมควร อาจจะต้องไปเยี่ยมเยียนกัน พาทีมงานในสังกัดไปเยี่ยมเพื่อให้กำลังใจ และให้รับทราบปัญหาของพนักงานคนนี้กันทั่วถึง ช่วยเหลืออะไรได้ก็ช่วยกันไปตามสมควร ต้องเห็นอกเห็นใจกันครับ

    และก็โปร่งใส ทุกคนเข้าใจว่าปัญหาคืออะไร แต่หากมีข้ออ้างอย่างอื่นที่พิจารณาแล้วว่าไม่มีเหตุผลอันสมควร ก็ต้องใช้มาตรการเรียงลำดับตามข้อแรกไปครับ

   นอกจากนี้แล้ว ลองหากลวิธีสร้างแรงจูงใจเช่น การให้รางวัลพนักงานดีเด่นด้านความรับผิดชอบ ด้านวินัย หรือการตรงต่อเวลา มาช่วยอีกแรงก็ดีนะครับ ที่บริษัทผมใช้อยู่ โดยมีการพิจารณารางวัลประเภทนี้ทุกไตรมาส และมีคณะกรรมการพิจารณาโดยตรงอย่างโปร่งใส

รางวัลคือเกียรติบัตรที่มีการทำพิธีมอบกันอย่างเป็นทางการ และประกาศให้ทุกคนทราบและเงินรางวัลห้าพันบาทครับ  หรืออาจจะทำในรูปของเบี้ยขยันก็ได้ครับ

    มีอีกครับ คือการสร้างกิจกรรมเสริมสร้างความสัมพันธ์อันดีระหว่างนายจ้างลูกจ้าง สารพัดอย่างที่ลองคิดขึ้นมาทำให้บรรลุวัตถุประสงค์

เป้าหมายคือทุกคนมีความสุขในการทำงาน ไม่เบื่องาน ทำงานแล้วสนุก มีทีมงานที่ให้ความช่วยเหลือซึ่งกันและกัน  รับรองครับว่า ไม่มีใครมาสายโดยไม่จำเป็นหรอกครับ อยากจะมาถึงที่ทำงานเร็ว ๆ เพราะอยากสนุก  การบริหารงานของผู้บังคับบัญชาก็อย่าตึงมากนะครับ เดี๋ยวมันขาด เอาพอดี ๆ ให้โอกาสลูกน้องพักผ่อนบ้าง จัดบรรยากาศในห้องทำงานให้มีชีวิตชีวา

3.       มาตรการกีดกันทางสังคม สำหรับคนมาสาย โดยเพื่อนร่วมทีมจะไม่คุยด้วย หรือไม่ช่วยเหลือ

      หากจำเป็นก็ลองใช้ดูนะครับ แต่โดยส่วนตัวผมจะไม่ใช้ เพราะอาจจะทำให้เกิดปัญหาลุกลามได้ครับ

แก้ปัญหาได้ครับ ลองดูนะครับ

อดิศร


 

Subject: [SIAMHRM.COM :15483] Re: รบกวนของคำปรึกษาเรื่องการหักเงินพนักงานกรณีมาทำงานสาย
Date: Wed, 5 Aug 2009 09:50:16 +0700
From: Naphaporn@santafe.co.th
To: panuwat_4835@hotmail.com; eakkaphop@inisis.co.th; siamhrm@googlegroups.com

ที่บริษัทก็เป็นแบบนี้เหมือนกันค่ะ ทำงานกับฝรั่งแต่ไม่นิสัยฝรั่ง คนต่างชาติเค้าเน้นเรื่องการตรงเวลาเป็นหัวใจสำคัญเลย ทำตัวคล้ายฝรั่งแต่มาทำงานสายแล้วสายอีก งงค่ะ ทำเหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น แจ้งเตือนแล้วก็เฉยๆ  ก็ทำไมก็จะสายน่ะ หัวหน้าก็เตือนกันปากเปียกปากแฉะ เรียกไปเตือนก็เฉย ๆ ยังทำเหมือนเดิม ที่บริษัทฯ เริ่มเข้างาน เวลา 08.00 น. ยืดหยุ่นให้ถึง 08.15 น. มีบางส่วนไม่รู้จักกฎระเบียบหรือแกล้งลืมมา 08.30 น. สายกว่านั้นก็มาก กฎระเบียบเรื่องเวลาการมาทำงานมีมานานแล้วค่ะ คงนานเกินไปจนเหมือนว่าจะลืมไปแล้ว ทำอะไรตามใจตัวเองกันส่วนใหญ่ กฎก็เลยไม่เป็นกฎ ระเบียบวินัยไม่มีเลย ไม่สนใจ ลืมบอกไปค่ะ ว่าเพิ่งเข้ามาทำงานในบริษัทฯ นี้ประมาณปีกว่า ๆ รู้สึกว่าไม่ไหวแล้ว ก็เลยปรึกษากับผู้จัดการแผนกต่าง ๆ เกี่ยวกับเรื่องนี้ขอคำแนะนำ ก็เลย กำหนดกฎระเบียบการหักเงินของพนักงานกรณีมาสาย เหตุการณ์เหมือนกับคุณ Eakkaphop เป๊ะเลยค่ะ รบกวนขอคำแนะนำด้วยค่ะ

 

 

น้อยหน่า

HR Santa Fe

 


From: siamhrm@googlegroups.com [mailto:siamhrm@googlegroups.com] On Behalf Of panuwat donjaipiwan
Sent: Wednesday, August 05, 2009 8:56 AM
To: eakkaphop@inisis.co.th; siamhrm@googlegroups.com
Subject: [SIAMHRM.COM :15445] Re: รบกวนของคำปรึกษาเรื่องการหักเงินพนักงานกรณีมาทำงานสาย

 

ขอด้วยคนครับ
ขอบคุณครับ.
 


From: eakkaphop@inisis.co.th
To: siamhrm@googlegroups.com
Subject: [SIAMHRM.COM :15431]
รบกวนของคำปรึกษาเรื่องการหักเงินพนักงานกรณีมาทำงานสาย
Date: Tue, 4 Aug 2009 11:54:52 +0700

สวัสดีครับเพื่อน HR ทุกท่าน

 

ที่บริษัทฯของท่านเคยเป็นแบบนี้ไหม?

กฏระเบียบการมาสายไม่มี ....., พนักงานมาทำงานสายกันบ่อยครั้ง , เกิดผลกระทบกับงาน ..... และผู้บริหารไม่เห็นความสำคัญของการ Implement ตั้งแต่ต้น

แต่เพิ่งเจอปัญหา เลยให้ HR กำหนดกฏระเบียบการหักเงินของพนักงานกรณีมาสาย

 

ผลกระทบคือหากบังคับใช้จริง ๆ  ต้องมีพนักงานไม่พอใจ(เป็นจุดเล็ก ๆ  ที่อาจทำให้เป็นเรื่องใหญ่หรือพนักงานอาจจะลาออก) เนื่องจากไม่เคยบังคับใช้มาก่อน

 

ขอแนวทางหรือระเบียบการหักเงินกรณีพนักงานมาทำงานสายครับ เพื่อนำมาปรับใช้ให้เหมาะสมกับบริษัท จะได้ไม่เกิดปัญหาอย่างอื่น ๆ ตามมาทีหลังครับ

 

ขอบพระคุณล่วงหน้าครับ

Ekkaphop


</html


--~--~---------~--~----~------------~-------~--~----~
-------- ร่วมกัน ถาม-ตอบ คำถามวันละ 1 กระทู้ สร้างความรู้ใหม่ได้ มหาศาล  ------

มุมนี้มีดี ต้องแนะนำ ::

http://www.JobSiam.com : โปรโมชั่น*! ประกาศตำแหน่งงาน ลดราคาสูงสุด 20% ถึง 30 ส.ค.52 นี้

http://www.SiamHrm.com : สยามเอชอาร์เอ็ม ดอทคอม รวมพลคนทำงาน มากที่สุด
~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~

คุณได้รับข้อความนี้เนื่องจากคุณเป็นสมาชิกกลุ่ม Google Groups กลุ่ม "บริหารทรัพยากรมนุษย์"
-  หากต้องการโพสต์ ถึงกลุ่มนี้ ให้ส่งอีเมลไปที่ siamhrm@googlegroups.com
-  หากต้องการยกเลิกการเป็นสมาชิกกลุ่ม ส่งอีเมลไปที่ siamhrm-unsubscribe@googlegroups.com (ยืนยันการยกเลิก ใน Email ของท่านอีกครั้ง.)
-  หากต้องการดูกระทู้ หัวข้อ HR โปรดไปที่กลุ่มนี้โดยคลิกที่ http://groups.google.co.th/group/siamhrm?hl=th

~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~
-~----------~----~----~----~------~----~------~--~---

ไม่มีความคิดเห็น: