วันพฤหัสบดีที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2558

ธรรมะใกล้ตัวฉบับ Lite ฉบับวันที่ ๑๗ กันยายน ๒๕๕๘

ฉบับที่ ๑๖๕ มีดในปาก




165 talk


'โดนแทงข้างหลัง' ของแท้
คือโดนคนอื่นใส่ไคล้
ด้วยความจงใจทำลายล้างกัน
'เผลอแทงข้างหลัง' โดยไม่ตั้งใจ
คือตีไข่ใส่สีตามอารมณ์
ไม่คิดให้ดีเสียก่อนพูด


ทุกคนรู้สึกเจ็บปวด
กับคำร้ายๆที่มีมาถึงตน
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง
คำร้ายๆที่สร้างความเสียหาย
ในหน้าที่การงาน
หรือความสัมพันธ์ส่วนตัว
ทุกคนจึงเกลียดการโดนแทงข้างหลัง


แต่แน่ใจหรือว่า
เกลียดอย่างไร ไม่เคยทำอย่างนั้น?


คนเราเวลาหาเรื่องคุยกัน
จะในบรรยากาศเบาๆหรือหนักๆก็ตาม
มักหยิบยกคนโน้นคนนี้มาพูดถึง
เพราะเรื่องของคนเป็นเรื่องน่าคุย
น่าให้อยากตีไข่ใส่สีตามอารมณ์


ลองสังเกตตัวเองดู
คุณอาจพบด้วยความประหลาดใจว่า
แนวโน้มที่จะพูดคุยถึงคนอื่น
ให้ออกรส ให้สนุกปาก ให้เฮฮากันได้นั้น
มักต้องหยิบยกเรื่องร้ายๆมาเป็นประเด็น
และการพูดถึงคนอื่นในแง่ลบแง่ร้าย
ก็เป็นความเคยชินที่สะสมกันง่ายเสียด้วย
ใครๆก็ทำได้ ไม่ใช่เรื่องต้องฝึกสักเท่าใด


แต่ที่จะหยิบยกเรื่องดีๆของคนอื่น
มาตั้งเป็นหัวข้อสร้างแรงบันดาลใจ
ให้ออกรส ให้คล่องปาก ให้คึกคักได้
เป็นเหมือนการว่ายน้ำทวนกระแส
ทำได้ยาก และไม่ค่อยมีใครเขาทำกัน


คนส่วนใหญ่
จึงอยู่ในวังวนของการแทงข้างหลัง
จะโดยรู้ตัวหรือไม่รู้ตัวก็ตาม


เพื่อจะเริ่ม 'รู้ตัว' ขึ้นมา
บางทีต้องอาศัยข้อสังเกต
เช่น ทบทวนดีๆว่า ถ้าใครรู้ว่าคุณพูดถึงเขา
อย่างที่หลุดปากออกไปครั้งล่าสุด
เขาจะรู้สึกว่าโดนคุณแทงข้างหลังหรือเปล่า?


แต่ถ้าเคยเจริญสติ
เคยเห็นกายเห็นจิตตนเองได้มาบ้าง
คุณอาจระลึก ณ จุดเกิดเหตุเลยทีเดียวว่า
ขณะพูดถึงใครในทางเสียหาย
ลิ้นของคุณให้ความรู้สึกแหลมคม
เหมือนปลายมีดพุ่งไปทิ่มแทงเขาหรือเปล่า
ถ้าใช่ ก็ให้สันนิษฐานว่า
มีเจตนาประทุษร้าย
ปรุงแต่งจิตให้พุ่งออกไปเป็นหอกดาบ


เมื่อจิตร้อน คำย่อมร้อน
ให้เร่งรู้ตัว เตือนตนเองให้ถูกว่า
นั่นเป็นวจีทุจริต เป็นอกุศลธรรม


อย่างไรก็ตาม
การอยู่ในสังคมมนุษย์
บางครั้งก็หลีกเลี่ยงไม่ได้
จำเป็นต้องพูดถึงแง่เสียหายของคนบางคน
เพื่อไม่ให้เกิดความเสียหายไปถึงส่วนรวม
เช่น ถ้ารู้จริงว่าใครโกงเก่ง
ก็จำเป็นต้องบอกให้เพื่อนร่วมงานระวังตัว
หรือถ้ารู้จริงว่าใครเจ้าชู้ยักษ์
ก็จำเป็นต้องบอกคนใกล้ตัวให้ออกห่างบ้าง
การพูดถึง 'ของเสีย' ของคนอื่นด้วยเจตนาดี
จะให้ความรู้สึกเหมือนเกิดน้ำบริสุทธิ์ขึ้นในปาก
ที่สาดออกไปเพื่อไล่ล้างความสกปรก
เป็นไปเพื่อความสะอาดหอม
ไม่ใช่เป็นไปเพื่อให้ปากเหม็น!


ดังตฤณ
กันยายน ๕๘



review


ความผาสุกและร่มเย็นในชีวิตของมนุษย์
จะเกิดขึ้นได้เมื่อแต่ละคนมีศีลธรรมประจำใจ
ดังความตอนหนึ่งของพระธรรมเทศนา
โดยพระธรรมวิสุทธิมงคล (หลวงตามหาบัว ญาณสมฺปนฺโน)
เรื่อง"การปฏิบัติรักษาตน"คอลัมน์ "สารส่องใจ" ค่ะ (-/\-)


ความคิดไม่ดีที่เกิดขึ้นโดยไม่ได้เจตนานั้น
จะถือว่าเป็นบาปหรือไม่อย่างไร
หาคำตอบได้ในคอลัมน์"ดังตฤณวิสัชนา"
ตอน "ถ้าเกิดความคิดสมน้ำหน้าผู้อื่นขึ้นมาโดยไม่ได้ตั้งใจ จะถือว่าเป็นบาปหรือไม่"


พระวินัยในเรื่องที่เกี่ยวกับมาตุคาม
มีรายละเอียดต่างๆ ที่น่าสนใจหลายประการ
ดังที่คุณงดงามได้ค้นคว้านำมาเรียบเรียงไว้
ในคอลัมน์"จุดหมายปลายธรรม"ตอน"ภิกษุและมาตุคาม (ตอนที่ ๑)"

--

---
คุณได้รับข้อความนี้เนื่องจากคุณสมัครรับข่าวสารจากกลุ่ม "ธรรมะใกล้ตัว" ของ Google Groups
หากต้องการยกเลิกการสมัครรับข่าวสารและหยุดรับอีเมลจากกลุ่มนี้ โปรดส่งอีเมลไปที่ dharma-at-hand+unsubscribe@googlegroups.com
หากต้องการดูตัวเลือกเพิ่มเติม โปรดไปที่ https://groups.google.com/d/optout

ไม่มีความคิดเห็น: